กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--
เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศเลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย มีผลห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน รวมถึงอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ โดยมีผลบังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงกับอุตสาหกรรมน้ำมันพืช อุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจอาหารฟ้าสต์ฟู้ด ธุรกิจขนมขบเคี้ยวและขนมเบเกอรี่ มูลค่าหลายแสนล้านบาทของประเทศ
เหตุผลที่ต้องห้ามหรือแบนน้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) รวมถึงอาหารที่ใช้น้ำมันชนิดนี้มาประกอบอาหารเพราะไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้ เป็นไขมันที่ร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และจะไปเคลือบผนังลำไส้ หลอดเลือด ทำให้น้ำและสารอาหารไม่สามารถดูดซึมได้ นำมาซึ่งระดับคอเลสเตอรอลที่สูง โดยเฉพาะไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำ (Low Density Lipoprotein – LDL) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดตีบและหลอดเลือดอุดตัน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต ฯลฯ ปกติน้ำมันพืชประเภทไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งจะทำปฏิกิริยากับสภาพแวดล้อม ทำให้เหม็นหืนได้ง่าย จึงได้มีผู้คิดค้นวิธีเติมไฮโดรเจน "บางส่วน"ที่อุณหภูมิสูง ทำให้น้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการนี้ ทนอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้และสามารถเก็บได้นานเป็นเดือนโดยไม่ต้องรักษาอุณหภูมิในตู้เย็น ซึ่งจะมีลักษณะทางกายภาพที่จับตัวเป็นก้อนกึ่งเหลวกึ่งแข็ง ที่เราเรียกว่า เนยขาว หรือเนยเทียม ซึ่งนำไปใช้ผลิตเป็นเนยเทียม ครีมเทียม ขนมขบเคี้ยว และขนมเบเกอรี่กันมาก และถึงแม้ว่า น้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนจะไม่มีไขมันทรานส์โดยตรงหรือมีในปริมาณที่ไม่เกินค่ากำหนด แต่การนำเอาน้ำมันพืชเหล่านี้ไปประกอบอาหารโดยใช้ความร้อนสูง เช่น การทอดโดยให้น้ำมันท่วมชิ้นอาหาร โดยเฉพาะการทอดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง ก็จะเกิดไขมันทรานส์รวมถึงสารโพลาร์ (Polar Compounds) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย
กระแสการห้ามหรือแบนไขมันทรานส์นั้น เริ่มมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี โดยเริ่มจากประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2549 และได้แพร่ขยายวงไปถึงทวีปยุโรป และเอเชียตามลำดับ ซึ่งเนื่องมาจากความตื่นตัวเรื่องสุขภาพของประชาชนผู้บริโภคน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหารเป็นหลัก การที่เกิดกระบวนการผลิตน้ำมันพืชโดยวิธีเติมไฮโดรเจนบางส่วนในน้ำมันพืชไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งนั้นก็เพื่อลดต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนในการจัดเก็บหรือรักษาสภาพน้ำมันพืชในระบบการกระจายสินค้า ตัวอย่างเช่น เนยเทียม (Margarine) ที่ผลิตได้จากกระบวนการเติมไฮโดรเจนนนั้น มีต้นทุนต่ำกว่าเนยจริงที่ผลิตจากนมวัวหลายเท่า จึงนิยมนำไปใช้แทนเนยจริงในอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปและขนมเบเกอรี่กันมาก ประกอบกับความเชื่อที่ผิด ๆ ว่าน้ำมันพืช (รวมถึงเนยเทียมที่มีน้ำมันพืชเป็นส่วนผสม) นั้น มีคอเลสเตอรอลต่ำกว่าเนยจริง แต่สิ่งที่ผู้ผลิตไม่ได้บอกหรือผู้บริโภคไม่เคยรับรู้มาก่อน ก็คือ ไขมันทรานส์นั้นมีอันตรายมากกว่าคอเลสเตอรอลมากมายนัก ดังนั้น เราจึงอ้าแขนรับเอากระแสนิยมบริโภคน้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการผลิตที่เติมไฮโดรเจน โดยเชื่อว่ามีคอเลสเตอรอลต่ำกว่าน้ำมันที่ผลิตจากสัตว์ เช่น น้ำมันหมูที่นิยมทานกันในหมู่คนไทยมาหลายร้อยปี ผลกลับกลายเป็นว่า คนไทยสมัยก่อนมีคนป่วยเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดน้อยมากเมื่อเทียบกับคนไทยในปัจจุบันที่ทานน้ำมันพืชเป็นหลัก ดังนั้น ไม่ว่าไขมันทรานส์ที่เกิดจากการผลิตเนยขาวหรือเนยเทียม หรือไขมันทรานส์ที่เกิดจากการนำน้ำมันพืชผ่านกรรมวิธีเติมไฮโดรเจนไปประกอบอาหารที่อุณหภูมิสูงก็ดี ผมเชื่อว่าคนไทยที่รับรู้ข้อมูลนี้จะตื่นตัวและเริ่มจะหลีกเลี่ยง และหันไปหาน้ำมันชนิดอื่นที่ไม่ก่อให้เกิดไขมันทรานส์ ได้แก่ น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา ซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัว หรือไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวที่ได้รับการทดสอบโดยสถาบันวิจัยโภชนาการที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับแล้วว่า ปลอดภัย ปราศจากไขมันทรานส์
น้ำมันพืชที่นิยมบริโภคกันมากที่สุดในประเทศไทย 2 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันปาล์ม และ น้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งผลิตได้จากผลผลิตการเกษตรในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นน้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งมีการนำเข้ากากถั่วเหลืองจากต่างประเทศประมาณปีละ 2 ล้านตัน ประเทศไทยผลิตและบริโภคน้ำมันปาล์มมากถึงกว่าปีละ 1,000,000 ตัน โดยน้ำมันปาล์มจะมีราคาถูกกว่าน้ำมันถั่วเหลืองประมาณลิตรละ 5-7 บาท จึงมีผู้นิยมบริโภคมากกว่า โดยเฉพาะการนำไปทอดอาหารเพราะทนอุณหภูมิได้สูงกว่าน้ำมันถั่วเหลือง จากประกาศการแบนน้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ถ้าอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันพืชหลักของประเทศไม่สามารถปรับตัวหรือปรับกระบวนการผลิตได้ ก็จะได้รับผลกระทบที่รุนแรง เพราะว่าจะไม่สามารถผลิตหรือจำหน่ายน้ำมันพืชที่ผลิตโดยกระบวนการผลิตแบบเดิมได้ตามกฎหมาย อาจส่งออกได้แต่น้ำมันปาล์มดิบหรือน้ำมันถั่วเหลืองดิบ แต่คำถามก็คือ กระแสการต่อต้านไขมันทรานส์นั้นมันแพร่ไปทั่วโลก ประเทศอื่นเขาก็คงประกาศห้ามเช่นกัน ยกเว้นประเทศในกลุ่มด้อยการพัฒนาในทวีปอัฟริกาหรือเอเชียใต้ ดังนั้น ราคาของน้ำมันปาล์มดิบรวมถึงผลปาล์มจะลดลงอย่างมาก ซึ่งปัจจุบัน ชาวสวนปาล์มก็กำลังประสบปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำอยู่แล้ว ยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาเรื่องปาล์มน้ำมันไปอีก ปัจจุบัน ไทยมีพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันประมาณ 4.876 ล้านไร่ คิดเป็นผลผลิตประมาณ 14.241 ล้านตัน (ข้อมูลปี พ.ศ. 2560) ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองอยู่ที่ 137,254 ไร่และผลผลิตรวม 37,765 ตัน ซึ่งนับว่าน้อยกว่าปาล์มน้ำมันหลายสิบเท่า ปัญหาราคาพืชน้ำมันตกต่ำจะส่งผลไปยังเกษตรผู้เพาะปลูกเป็นลูกโซ่อุปทาน (Supply Chain) ภูมิภาคที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ภาคใต้ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกเกือบร้อยละ 90 ของประเทศ
กระแสนิยมพลังงานหมุนเวียนในระยะกว่าสิบปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชซึ่งเดิมใช้ประโยชน์จากการบริโภค เช่น ปาล์มน้ำมัน มาเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ในรูปพลังงาน ทั้งในรูปของเชื้อเพลิงปิโตรเลียมที่ใช้กับรถยนต์ เช่น โบโอดีเซล หรือน้ำมันปาล์มที่ใช้ผสมหรือแทนน้ำมันเตาในโรงไฟฟ้าซึ่งใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง อย่างเช่น โรงไฟฟ้ากระบี่ รวมถึง ใช้เศษวัสดุเหลือใช้ของปาล์มน้ำมัน เช่น ทลายปาล์ม กะลาปาล์ม ฯลฯ เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวล และใช้น้ำเสียจากกระบวนการหีบปาล์มเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันเตาหรือใช้ปั่นไฟฟ้าโดยตรงโดยเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันดีเซล (โดยมีการดัดแปลงระบบป้อนเชื้อเพลิงจากน้ำมันดีเซลเป็นก๊าซชีวภาพแทน) กลายเป็นประเด็นปัญหาการแย่งชิงผลผลิตการเกษตรเพื่อเป็นอาหารหรือเพื่อใช้เป็นพลังงานในอดีตจนถึงปัจจุบัน ก่อนที่จะเกิดกระแสต้านไขมันทรานส์ซึ่งหมายรวมไปถึงน้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการผลิตแบบเติมไฮโดรเจนบางส่วน ข้อมูลล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์คือ ปริมาณของน้ำมันปาล์มดิบในสต็อกเมื่อเดือน พ.ย. 2560 ที่ 532,650 ตันได้ลดลงเหลือ 407,840 ตัน โดยการผลักดันให้มีการส่งออกทั้งน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ รวมถึงพยายามผลักดันให้นำไปใช้ผลิตไบโอดีเซล จากปริมาณวันละ 4 ล้านลิตร เพิ่มเป็น 6 ล้านลิตร (ยอดจำหน่ายน้ำมันดีเซลต่อวันอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านลิตร) ซึ่งจำเป็นต้องปรับสูตรไบโอดีเซลให้สามารถรองรับสัดส่วนน้ำมันปาล์มที่เพิ่มขึ้นในเนื้อน้ำมัน ดังนั้น การจะนำเอาผลผลิตปาล์มน้ำมันไปใช้เป็นพลังงานนั้น อาจจะไม่ง่าย เนื่องจากติดปัญหาด้านเทคนิค (สูตรน้ำมันไบโอดีเซล หรือการใช้น้ำมันปาล์มผสมกับน้ำมันเตาในโรงไฟฟ้า) รวมถึงด้านอุปสงค์ เพราะโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่ได้ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง หรือปัญหาด้านราคา เพราะน้ำมันปาล์มมีราคาสูงกว่าน้ำมันเตากว่าเท่าตัวเมื่อคิดที่ค่าความร้อนเท่ากัน
ดังนั้น ผมจึงเล็งเห็นปัญหาใหญ่ที่ตามมาจากประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคอุตสาหกรรมอาหาร ภาคธุรกิจอาหารและขนม รวมถึงภาคพลังงานของประเทศ ส่วนทางออกของปัญหานี้จะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องให้นักวิชาการที่มีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงหน่วยงานภาครัฐผู้รับผิดชอบร่วมมือกันหาทางรับมือกับปัญหานี้โดยเร่งด่วนครับ
สุรพันธ์ วงษ์โอภาสี
นักวิชาการอิสระ