กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--สามพราน ริเวอร์ไซด์
พัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องกับขับเคลื่อน Organic Tourism หรือ การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์เพื่อสร้างระบบอาหารสมดุลยั่งยืน ที่แล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ Sustainable Food Lab (Thailand) ร่วมกับสามพรานโมเดลริเริ่มดำเนินการ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. หวังปลุกพลังผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ลุกขึ้นมาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงมุ่งสู่เป้าหมายระบบอาหารสมดุลยั่งยืน
ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ ดร. อุดม หงส์ชาติกุล และ นายอรุษ นวราช กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งฟู๊ดแล็บ พร้อมด้วยทีมเจ้าหน้าที่สามพรานโมเดล ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อน Organic Tourism ของกลุ่ม "เจียงใหม่ Organic" ที่กำลังฟอร์มตัว ตั้งเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ทำหน้าที่เชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรอินทรีย์ได้ทำงานร่วมกัน หวังเกิดพลังร่วมช่วยกระตุ้นผู้บริโภคเห็นความสำคัญของออร์แกนิก ที่มีคุณค่ามากกว่าสุขภาพดี และรวมถึง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมดีไปด้วย ซึ่งมีผู้ประกอบการธุรกิจ ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร เกษตรกร เข้าร่วมขับเคลื่อนกันอย่างคึกคัก
ดร. อุดม หงส์ชาติกุล เล่าความคืบหน้าให้ฟังว่า สำหรับการขับเคลื่อนการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น มีความต่อเนื่อง คึกคัก และมีพัฒนาการที่ดีมากๆ ซึ่งหนึ่งในรูปธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว คือมีรวมกลุ่มกันจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม ภายใต้ชื่อ "เจียงใหม่ Organic" ทำหน้าที่เชื่อมผู้ประกอบการ และเกษตรกรอินทรีย์ให้มารู้จักกัน เข้าใจกัน และทำงานร่วมกัน มีการลงพื้นที่ ไปเยี่ยมฟาร์ม เรียนรู้การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ รู้จักใช้ประโยชน์จากสมุนไพร พืชผักพื้นบ้าน การแปรรูป และเริ่มทดลองซื้อผลผลิตอินทรีย์ตรงจากเกษตรกรมาใช้ในห้องอาหารเพื่อบริการลูกค้า
และอีกหนึ่งผลผลิตของความก้าวหน้า คือ การจัดกิจกรรม Jiang Mai Organic Chef's Table โดยกลุ่ม เจียงใหม่ Organic ที่มีคุณอรช บุญ-หลง เป็นผู้นำ ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่สองแล้ว โดยล่าสุด ได้รับความร่วมมือจาก โรงแรมรายาเฮอริเทจ เปิดพื้นที่ครัวของโรงแรมให้ เชฟ จากโรงแรม ร้านอาหาร ชื่อดังในเชียงใหม่ 10 แห่ง มาร่วมกันสร้างสรรค์เมนู organic โดยจุดเด่นของงาน นอกจากเชฟแต่ละคนจะได้ออกมาเล่าถึงแรงบันดาลใจ ในการสร้างสรรค์เมนูอินทรีย์ที่ใช้พืชผักพื้นบ้านมาเป็นส่วนประกอบ ซึ่งทุกครั้งที่จัดงาน ยังมีพื้นที่สำหรับเกษตรกรอินทรีย์ และเกษตรกรน้อย กลุ่มม๋วนใจ๋ เกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติเชียงดาว ได้มาทักทาย และบอกเล่าความตั้งใจในการผลิตพืชผักอินทรีย์ นอกจากทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจ ยังตระหนักถึงคุณค่าออร์แกนิกที่ไม่เฉพาะดีต่อสุขภาพแต่ส่งผลดีที่ห่วงโซ่อาหารทั้งระบบ
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยยกระดับและพัฒนาผู้ประกอบการ และเชฟ ให้มีความเข้าใจวิถีเกษตรอินทรีย์มากยิ่งขึ้น คือ นำพวกเขาไปเรียนรู้วิถีการทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จริง ซึ่งในครั้งนี้ ไปกันที่ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เยี่ยมชมกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์บ้านแม่ทา เรียนรู้คุณค่าของพืชผักพื้นบ้าน และความสำคัญของการกินตามฤดูกาลโดยไม่ต้องไปใช้สารเคมี เพื่อเร่งให้พืชผลออกนอกฤดู ซึ่งมีแนวร่วมสำคัญ จากเกษตรกรสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา คุณศศิธร คำฤทธิ์ จากรถชำเปลี่ยนโลก มาช่วยกันรังสรรค์ผักพื้นบ้านชนิดต่างๆ เป็นเมนูออร์แกนิก ที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ให้ได้ลิ้มลองรสชาติกัน เช่น ยำหน่อไม้น้ำปู๋ คั่วหน่อ แกงแค เต้าหูสดก้อน เป็นต้น
นอกจากการยกระดับผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ให้เข้าใจวิถีการทำเกษตรอินทรีย์แล้ว ภายใต้การการขับเคลื่อน Organic Tourism และ สามพรานโมเดล ยังมีการเชื่อมโยงกับเกษตรกรในเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง ดั่งเช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลแม่นาจร บ้านห้วยขมิ้น ซึ่งเป็นชาวปกาเกอะญอ นำโดย วัฒนา ทรงพรไพศาล ประธานกลุ่ม ที่มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการผนึกกำลังคนรุ่นใหม่และเกษตรกรในชุมชนให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์ โดยใช้ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee Systems : PGS) เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนกลุ่ม พวกเขา หวังอยากให้ทั้งคนบนดอยและผู้บริโภคในเมืองมีสุขภาพดี โดยมีเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้ได้ 100 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ ปลูก ผัก และผลไม้เมืองหนาว เช่นพลับ สตรอเบอรี่ สาลี่ กู๊ดเบอรี่
ด้านนายอรุษ นวราช เล่าว่า กลุ่มนี้มีความเข้มแข็งมาก โดยเฉพาะมีผู้นำ ซึ่งเป็นพ่อหลวงคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีความมุ่งมั่งในการรักษาป่าต้นน้ำ และยังนำเกษตรกรรุ่นใหม่มาร่วมขับเคลื่อนด้วย มีความคิด เชิงระบบ มีความมุ่งมั่น และ มีข้อตกลงร่วมที่ชัดเจน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ขณะเดียวกันก็มีพื้นฐานวัฒนธรรม ความเชื่อ และจิตสำนึกที่ดีที่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนรอบข้าง ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นข้อตกลงร่วมให้ทุกคนเห็นตรงกัน นับเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง มีพลัง ที่จะเป็นแบบอย่างให้หมู่บ้านหรือกลุ่มอื่นมาเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
Organic Tourism หรือ การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ เป็นการขับเคลื่อนทางสังคม ที่ริเริ่ม และ ดำเนินการโดย แล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. และความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สามพรานโมเดล โดยมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการ ธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม ได้มาร่วมขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างจุดขายใหม่ให้กับการท่องเที่ยว เพื่อสร้างระบบอาหารสมดุลและยั่งยืน รายละเอียดเพิ่มเติมตาม ได้ที่ โทร. 034 -225-203 หรือ organictourismthailand.com