กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
นักศึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี พัฒนาตำรับเจลฟิล์มจากสารสกัดพญายอ พืชสมุนไพรไทย ลดอาการผื่นคัน การบวมอักเสบจากแมลงกัดต่อย ชี้ 'ต้นทุนต่ำ ปลอดภัยและใช้สะดวก'
ล่าสุด เจลฟิล์มจากพญายอ คว้ารางวัล Silver Medal จากการเข้าร่วมประกวดในงาน World Innovation Contest, WiC 2018 ณ สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นผลงานของ น.ส.นุชจรีย์ สุกรณ์ 'ป๊อกแป๊ก' ร่วมกับ น.ส.ญาตา โภชนา 'ฟาง' นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาสุขภาพและความงาม โดยมี ภญ.เอมอร ชัยประทีป อาจารย์วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยและนักวิจัย มทร.ธัญบุรี เป็นที่ปรึกษา
น.ส.นุชจรีย์ เล่าว่า ประเทศไทยมีอากาศร้อน โอกาสที่จะเกิดผดผื่นคันสามารถพบได้บ่อย ตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยสูงอายุ จึงได้ร่วมปรึกษาและคิดค้นกับอาจารย์ที่ปรึกษาในการเลือกใช้สมุนไพรไทยโดยเฉพาะพญายอมาใช้ในตำรับ โดยพัฒนาเป็นเจลฟิล์ม ซึ่งจะเหมาะสมกับอากาศร้อนชื้นในประเทศและสะดวกต่อการใช้งานมากกว่าผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปของครีม โลชั่น หรือขี้ผึ้ง และที่สำคัญคือ สารสำคัญในเจลฟิล์มนั้นสามารถแก้ปัญหาผดผื่นคันได้ตรงจุด และใช้เวลาคิดค้นนานหลายเดือนเพื่อปรับสูตรจนได้เนื้อสัมผัสที่ดีที่สุด กลิ่นหอมจากธรรมชาติ และให้ความรู้สึกเย็น ทำให้ช่วยผ่อนคลายจากอาการคัน
ด้าน น.ส.ญาตา กล่าวเสริมว่า ผลงานวิจัยนี้อิงสรรพคุณตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่รักษาอาการดังกล่าว ในการพัฒนาตำรับเจลฟิล์มจากสารสกัดพญายอ เริ่มต้นจากนำใบพญายอแห้งมาหมักเพื่อสกัดสารสำคัญด้วยเอทานอล จากนั้นจัดทำตำรับเจลฟิล์มด้วยวิธีการในห้องปฏิบัติการ ทดสอบลักษณะทางกายภาพและเคมี เพื่อให้ได้เจลฟิล์มที่ดีที่สุด โดยไม่แต่งสีและกลิ่นแต่อย่างใด สำหรับวิธีการใช้ให้ทาตรงบริเวณที่มีอาการ ทิ้งไว้ประมาณ 30 – 45 นาที วันละ 2 – 3 ครั้งต่อวัน และเมื่อแห้งสามารถลอกทิ้งออกเป็นแผ่นได้ ซึ่งผู้ใช้จะรู้สึกเย็นเนื่องจากส่วนผสมของเมนทอล "อาการคัน หากยิ่งเกาจะยิ่งคันมากขึ้น การปิดบริเวณที่คัน จะช่วยให้ไม่สามารถเกาได้และยังทำให้ไม่ขยายบริเวณหรือเป็นแผลมากกว่าเดิมได้" และผลิตภัณฑ์นี้มีความปลอดภัย และเป็นยาที่ใช้ภายนอก ซึ่งไม่เหมาะกับบาดแผลเปิด
"เจลฟิล์มสารสกัดพญายอ เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในเรื่องผดผื่นคัน และอาการบวมจากแมลงสัตว์กัดต่อย เป็นไอเท็มสำคัญที่ควรมีติดบ้าน ขณะนี้กำลังก้าวสู่ผลิตภัณฑ์และอยู่ในขั้นตอนการจดยื่นอนุสิทธิบัตร คาดหวังว่าจะมีการพัฒนาต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรมต่อไป เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้และนิยมใช้พืชสมุนไพรกันมากยิ่งขึ้นและมีความพึงพอใจกับราคา รู้สึกภาคภูมิใจที่ผลงานนี้ประสบความสำเร็จ ใช้งานได้จริงและจะเข้าสู่กระบวนการพัฒนาในขั้นต่อไป เพื่อให้ออกมาเป็นเจลฟิล์มที่สมบูรณ์แบบ และพร้อมวางจำหน่าย" น.ส.ญาตา อธิบาย
ทั้งนี้ ยังได้รับรางวัลจากการประกวดนวัตกรรมระดับดีมาก ในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างสถาบัน ASTC 2018 ณ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ อีกด้วย ผู้สนใจสามารถติดต่อวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี โทร.02 592 1999.