กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ผลงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาโปรแกรมทดสอบไอซีด้วยภาษามาตรฐาน STIL ผลงานของ นางสาวนุชจรินทร์ ใจดี และนายพงศธร หอมนาน นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) การันตีรางวัลจากการประกวดผลงานสหกิจศึกษาดีเด่น มจพ. ประจำปี 2561 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งการพัฒนาโปรแกรมทดสอบไอซีด้วยภาษามาตรฐาน STIL (Standard Test Interface Language) เป็นการพัฒนาการทดสอบไอซีด้วยเครื่องTester RSX 5000 ซึ่งเป็นเครื่องทดสอบไอซีที่มีประสิทธภาพสูงในโรงงานอุตสาหกรรม โดยกระบวนการที่ได้ทำการพัฒนาโปรแกรมเพื่อทดสอบไอซีนั้นจะช่วยให้ลดเวลาในการทดสอบไอซีให้กับกระบวนการผลิตในโรงงานได้มาก เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตได้มากขึ้นในระยะเวลาที่น้อยที่สุด และยังช่วยลดจำนวนอุปกรณ์ในการทดสอบไอซีลงไปได้มาก แนวคิดและความเป็นมาของงานวิจัย เนื่องจากการทดสอบไอซีในรูปแบบเดิมที่ใช้เครื่องทดสอบรุ่นเก่าที่เป็นภาษา Assembly ทำให้การทดสอบไอซีมีประสิทธิภาพน้อยและใช้เวลานานในการทดสอบ เลยได้มีการพัฒนาโปรแกรม STIL ขึ้นมาเพื่อใช้ในการทดสอบกับเครื่องทดสอบไอซีรุ่นใหม่ เพื่อทำให้ทดสอบประสิทธิภาพไอซีได้100% และสามารถลดเวลาในการทดสอบลงไปได้ถึง 56% โดยมี ผศ.ดร.พินันทา ฉัตรวัฒนา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
วัตถุประสงค์ของงานวิจัย เพื่อเขียนโปรแกรมที่ใช้ในการทดสอบไอซีเช็คความถูกต้องได้ 100% ให้กับบริษัท โรม อินทิเกรเต็ด ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ลดเวลาในการทำงานของโปรแกรมที่ใช้สำหรับทดสอบไอซี ให้ได้มากที่สุด และลดอุปกรณ์เสริมของการทดสอบไอซีลงจากเดิม
ลักษณะเด่นของภาษามาตรฐาน STIL เป็นภาษาเฉพาะที่ใช้ในการทดสอบไอซีของบริษัท โรม อินทิเกรเต็ด ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด มีคุณภาพในการตวรจสอบความถูกต้องที่สูงและง่ายต่อการใช้งาน
วิธีการดำเนินงาน ในขั้นตอนแรกได้เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับพื้นฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ การใช้เครื่องTester RSX5000 และเครื่องมือต่างๆที่จำเป็นต่อการทำงาน และเมื่อเข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ก็ลงมือเขียนโปรแกรมโดยการแปลงโปรแกรมจากเครื่อง Tester ICT1800 ที่ใช้ภาษา Assembly ให้ใช้กับเครื่องTester RSX5000 ที่ใช้ภาษา STIL ผ่านทางโปรแกรม RSX5000 IC Tester System หลังจากนั้นทำการตรวจสอบโปรแกรมให้มีความถูกต้องตาม Test Spec และ Circuit หลังจากที่ได้ทำการเขียนโปรแกรมเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ตรวจสอบว่าโปรแกรมของเรานั้นสามารถ RUN กับงานจริงได้ไหม เมื่อเช็คโปรแกรมแล้วว่ามีความถูกต้อง 100% ก็สามารถนำโปรแกรมภาษา STIL ที่ได้เขียนโดยนำมาทดสอบไอซีในกระบวนการผลิตที่ RUN งานเป็นหลาย ๆ ตัวได้
ประโยชน์การใช้งานวิจัย สามารถนำโปรแกรมไปต่อยอดในการทดสอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในโรงงานอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี ลดเวลาในการทำงานในกระบวนการผลิต นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในด้านการทดสอบชิ้นงานในโรงงานอุตสาหกรรม
สอบถามรายละเอียดได้ที่ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โทรศัพท์ 0-2555-2000 ต่อ 6333