กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--กรมวิทยาศาสตร์บริการ
กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ลงนามความร่วมมือกับภาคการศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีนางอุมาพร สุขม่วง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ นางเกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ลงนามในบันทึกความความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งเป้าพัฒนาระบบมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ทดสอบ สอบเทียบ วิจัยพัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของ 3 หน่วยงานเข้าร่วมในพิธีฯ กว่า 30 คน ณ ห้องประชุมวิทยวิถี ชั้น 6 อาคาร ดร.ตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า การพัฒนาระบบมาตรฐานห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบ เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ควบคู่กับการพัฒนางานวิจัยเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่ง วศ. มีทั้งบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน พร้อมให้ร่วมมือผลักดันการพัฒนาด้านมาตรฐานห้องปฏิบัติการ สร้างต้นแบบการพัฒนา SMEs และเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งวิสาหกิจชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่บูรณาการและเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน ตอบสนองความต้องการของตลาดดังนั้นการบูรณาการร่วมมือกับภาคการศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์ในครั้งนี้นับเป็น โอกาสที่ดีที่ เสริมสร้างความเข้มแข็งโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่เศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและทำให้สินค้าไทยได้รับการยอมรับทั้งภายในและต่างประเทศ อันเป็นฐานสนับสนุนการพัฒนาสังคมไทยให้มีเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือนี้ช่วยให้บุคลากรดำเนินงานได้คล่องตัว เป็นการดึงจุดแข็งของแต่ละหน่วยงานที่มีอยู่มาช่วยเสริมการทำงานร่วมกัน ทั้งการแลกเปลี่ยนผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การใช้อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ร่วมกัน ประหยัดทรัพยากรและลดต้นทุน การดูแลรักษาเครื่องมือเครื่องใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างนวัตกรรมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันได้ตรงตามความต้องการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่กระจายไปทั่วประเทศ
รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การลงนามของผู้บริหารครั้งนี้ จะก่อให้เกิดพลังการร่วมมือนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การใช้เครื่องมือร่วมกันให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด