กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--NBTC Rights
(ความเห็นนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ)
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การประมูลคลื่นความถี่ในเดือนสิงหาคมนี้ มีผู้ยื่นคำขอเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz สองราย และไม่มีผู้สนใจประมูลคลื่น 900 MHz แม้แต่รายเดียว แม้ว่าจะเป็นคลื่นล็อตสุดท้ายของย่านนี้ก็ตาม
จากเหตุการณ์นี้สรุปได้ว่า คลื่น 1800 MHz ซึ่งเปิดให้ประมูล 9 ล็อต ล็อตละ 5 MHz จะยังมีคลื่นเหลือหลังการประมูลแน่นอน เพราะมีผู้เข้าประมูลเพียงสองราย กรณีต่ำสุดคือคือประมูลรายละ 1 ล็อต จะมีคลื่นเหลือ 7 ล็อต กรณีสูงสุดประมูลรายละ 4 ล็อต ก็ยังจะมีคลื่นเหลือ 1 ล็อต ส่วนคลื่น 900 MHz ไม่มีผู้ยื่นประมูลจึงเหลือ 1 ล็อตสุดท้ายเช่นเดิม
ทำไมคลื่นที่ขาดแคลนกลับขายไม่ออก แต่คลื่นที่มีเหลือกลับมีผู้สนใจมากกว่า ทั้งที่คุณสมบัติทางเทคนิคของคลื่น 900 MHz ครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างกว่า
คำอธิบายข้อแรกก็คือเรื่องราคาคลื่น ราคาตั้งต้นของการประมูลครั้งนี้กำหนดขึ้นจากราคาชนะประมูลเมื่อสองปีที่แล้ว สำหรับคลื่น 1800 MHz นั้น ราคาชนะประมูลครั้งที่ผ่านมาใกล้เคียงกับราคาประเมินคลื่นความถี่ขั้นสูงด้วยวิธี Full Enterprise Model และต่ำกว่าราคาประมูลในหลายประเทศ จึงเป็นราคาที่ไม่แพงเกินความสามารถในการทำกำไรได้ทางทฤษฎี ประกอบกับการไม่บังคับซื้อเหมาครั้งละ 3 ล็อต (15 MHz) แต่ให้เลือกซื้อล็อตเดี่ยวๆ ได้ ทำให้เอกชนไม่ต้องแบกรับภาระเกินความจำเป็น
แต่คลื่น 900 MHz นั้น ราคาชนะประมูลครั้งที่ผ่านมาสูงกว่าราคาประเมินคลื่นความถี่ขั้นสูงถึงเกือบสามเท่า และเป็นราคาที่ทำลายสถิติโลก จึงเป็นราคาที่ไม่น่าสนใจเท่าใด หากไม่เข้าตาจน
กสทช. ออกแนวทางให้กลุ่มดีแทคจำเป็นต้องเข้าประมูลเพื่อสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ต่อเนื่องในช่วงรอยต่อของการสิ้นสุดสัมปทานและการรับใบอนุญาตใหม่ มิเช่นนั้นจะเสียสิทธินี้ไป ในเบื้องต้นเอกชนก็มีท่าทีให้ความสนใจคลื่น 900 MHz มากกว่า 1800 MHz เพราะคลื่นย่านหลังใกล้เคียงกับคลื่น 2300 MHz ที่มีให้ใช้อยู่แล้วจากการทำสัญญากับทีโอที ในขณะที่คลื่น 900 MHz นั้นเอกชนรายนี้ยังขาดแคลนอยู่
แต่ด้วยราคาที่สูงเป็นสถิติโลก บวกกับเงื่อนไขภาระการต้องติดตั้งตัวกรองสัญญาณให้กับระบบรถไฟความเร็วสูงจากจีนและให้กับค่ายมือถือที่อยู่ติดกัน ซึ่งคำนวณแล้วมีมูลค่ามหาศาล แม้ กสทช. จะดึงดูดด้วยการลดราคาตั้งต้นการประมูลลง 2,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับภาระที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งคลื่นนี้เหลือเพียง 5 MHz ในขณะที่คู่แข่งมีคลื่นย่านนี้รายละ 10 MHz จึงเสียเปรียบตั้งแต่ยังไม่เริ่มนับหนึ่ง
คำอธิบายข้อที่สอง จึงอยู่ที่ว่า การจัดสรรคลื่น 900 MHz ให้กับระบบอาณัติสัญญาณรถไฟความเร็วสูงจากจีนทำให้คลื่นโทรคมนาคมมีปริมาณลดลง และยังเพิ่มปัญหาการรบกวนสัญญาณระหว่างกัน ทำให้มีต้นทุนเพิ่มในการติดตั้งระบบกรองสัญญาณวิทยุ ซึ่งต้องเป็นระบบที่คุณภาพสูงมากสำหรับกรณีที่การรบกวนก่อผลกระทบต่อความปลอดภัยของรถไฟความเร็วสูง ทำให้ต้นทุนสูงมากตามคุณภาพความคมของระบบกรองสัญญาณ
แล้วประเทศไทยควรเดินหน้าอย่างไร ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟที่ใช้คลื่นในย่าน 900 MHz เป็นไปตามมาตรฐาน GSM-R ของยุโรป แต่ก็มีปัญหาในปัจจุบัน นอกจากปัญหาคลื่นรบกวนแล้ว มาตรฐาน GSM-R เป็นมาตรฐานที่กำลังจะตกยุค เพราะแม้จะใช้เทคโนโลยี GSM ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดิจิตัลมาดัดแปลงให้เหมาะกับรถไฟ แต่ก็เป็นเทคโนโลยียุค 2G ซึ่งอุตสาหกรรมจะผลิตอุปกรณ์รองรับไม่เกินปี 2573 และยิ่งใกล้ปีดังกล่าวอุปกรณ์ก็จะยิ่งหายากและมีราคาสูง ในยุโรปจึงได้พัฒนามาตรฐานใหม่ FRMCS และมีแผนจะทยอยย้ายออกจาก GSM-R ตั้งแต่ปี 2565 โดยระบบใหม่จะออกแบบให้รองรับต่อไปอีกอย่างต่ำ 20 ปี โดยคาดว่าสวิสเซอร์แลนด์และเนเธอร์แลนด์จะปิดระบบ GSM-R โดยเร็วหลังปี 2565
ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอาณัติสัญญาณรถไฟจากเนเธอร์แลนด์เคยเสนอแนะเมื่อ 5 ปีก่อนว่า ต้นทุนในการเปลี่ยนระบบอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านยูโร ในขณะที่คลื่นที่ได้คืนมาสามารถประมูลเพื่อกิจการโทรคมนาคมได้ประมาณ 3,800 ล้านยูโร จึงสมควรที่จะเร่งหาระบบใหม่ที่ทันสมัยและปลอดภัยกว่า
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าระบบใหม่จะเชื่อมต่อแบบ IP-based ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 4G 5G WiFi หรือแม้แต่สัญญาณดาวเทียม และมีความเป็นไปได้ที่จะใช้คลื่นย่านอื่น เนื่องจากคลื่น 900 MHz มีจำกัดมาก แม้แต่ในจีนก็พัฒนาระบบใหม่ด้วยเทคโนโลยี LTE บนคลื่นย่าน 450 MHz แต่รถไฟความเร็วสูงของจีนในประเทศไทยกลับใช้เทคโนโลยีเก่า
ที่ผ่านมาการตัดสินใจของ กสทช. ในการจัดสรรคลื่น 900 MHz ให้กับระบบอาณัติสัญญาณรถไฟเป็นไปตามคำขอของกระทรวงคมนาคม และอยู่บนพื้นฐานว่ารถไฟความเร็วสูงต้องใช้คลื่น 900 MHz เท่านั้น หาก กสทช. ไม่จัดสรรให้เท่ากับจะส่งผลเป็นการระงับโครงการนี้โดยปริยาย แต่จากข้อมูลปัจจุบันทำให้รู้ว่า เรามีทางเลือกมากกว่า 1 ทางในการจัดสรรคลื่นความถี่ให้รถไฟความเร็วสูง
การตัดสินใจจัดสรรคลื่น 900 MHz ที่ขาดแคลนเพื่อเทคโนโลยีที่กำลังจะตกยุคอาจเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันหาทางออกโดยเร็ว ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ไม่เช่นนั้น อีกไม่กี่ปีเราก็อาจจะต้องลงทุนเพิ่มเพื่อเปลี่ยนจากเทคโนโลยีที่จะตกยุค ทั้งที่เพิ่งลงทุนไปได้ไม่นาน