กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--สปส.
สปส.แจงข้อตกลงการสมัครเป็นสถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทนฉบับใหม่ ทำเพียงครั้งเดียว มีผลใช้บังคับตลอดไป ล่าสุดรพ.ราชวิถี แจ้งพร้อมร่วมมือให้การรักษาลูกจ้าง/ผู้ประกันตนอย่างเต็มที่
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงกรณีข้อตกลงการสมัครเป็นสถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน ซึ่งตามข้อตกลงเดิมจะทำคราวละ 2 ปี โดยสถานพยาบาลจะยกเลิกข้อตกลงก่อนครบกำหนดเวลาไม่ได้ และจะสิ้นสุดข้อตกลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2550 ข้อตกลงฉบับใหม่จะทำพร้อมกับการทำสัญญาการให้บริการทางการแพทย์ของกองทุนประกันสังคม ซึ่งข้อตกลงของสถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทนทำเพียงครั้งเดียว มีผลใช้บังคับตลอดไป นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 และสถานพยาบาลสามารถบอกเลิกข้อตกลงได้โดยแจ้ง สปส.ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน ขณะนี้มีสถานพยาบาลเอกชนยื่นใบสมัครและทำข้อตกลงเป็นสถานพยาบาลในความตกลงของกองทุน เงินทดแทนแล้ว จำนวน 80 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2550) สถานพยาบาลภาครัฐจำนวน 871 แห่ง รวมโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐใหญ่ที่สุดในกระทรวงสาธารณสุข เป็นศูนย์ส่งต่อจากโรงพยาบาลในภาครัฐและเอกชน ที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 1,200 เตียง พร้อมให้การดูแลรักษาพยาบาลลูกจ้าง/ผู้ประกันตนทั้งจากกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ทั้งนี้ สถานพยาบาลใดประสงค์เข้าร่วมเป็นสถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน สามารถสมัครได้ตลอดเวลา โดยดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.sso.go.th. ในหัวข้อ สมัครเข้าร่วมกองทุนเงินทดแทน และสปส.จะประกาศรายชื่อสถานพยาบาลที่ทำข้อตกลงแล้วที่เว็บไซต์ดังกล่าว
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ในปีหนึ่งๆ สปส.จ่ายเงินทดแทนให้ลูกจ้าง ผู้มีสิทธิ และโรงพยาบาลจำนวนสูงมาก โดยดูจากสถิติการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในปี 2548 มีผู้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จำนวน 214,235 ราย สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายค่ารักษาพยาบาลจำนวน 718 ล้านบาท ปี 2549 จำนวน 204,257 ราย จ่ายค่ารักษาพยาบาลจำนวน 719 ล้านบาท และปี 2550 ( 1 ม.ค.- 30 ก.ย.) มีผู้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จำนวน 167,899 ราย จ่ายค่ารักษาพยาบาลจำนวน 571 ล้านบาท ดังนั้น ขอให้นายจ้างช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัย เพื่อลดปัญหาลูกจ้างประสบอันตราย อย่างไรก็ตาม หากลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจาการทำงาน นายจ้างต้องแจ้งการประสบอันตรายตามแบบการแจ้งการประสบอันตราย (กท.16) พร้อมสำเนาหนังสือส่งตัวลูกจ้างเข้ารักษาพยาบาล (กท.44) ส่งให้สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัดภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย หากมีข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานกองทุนเงินทดแทน โทร.0 2956-2725-7 หรือที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ