กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--
เป็นผืนดินท้องมังกรที่มีคุณค่าทางจิตใจมาอย่างยาวนาน "ล้ง 1919" ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฉลองการเข้าสู่ 100 ปี ล้ง 1919 นับตั้งแต่ปีคริสตศักราช 1919 ซึ่งนอกเหนือจากการเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งการค้าไทย-จีน ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์การค้าข้าวในอดีต จึงได้จัดงาน "นาล้ง" นิทรรศการข้าวไทย นากลางกรุงริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักรู้ความสำคัญของข้าวที่เป็นพืชเกษตรกรรมดั้งเดิมของคนไทย รวมถึงคุณค่าของข้าวไทย โดยเนรมิตผืนนาบนพื้นที่ล้ง 1919 เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มาเรียนรู้ รวมทั้งได้มีโอกาสลงดำนาด้วยตนเอง พร้อมกิจกรรมอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 8 ถึง 19 สิงหาคม 2561 ณ โครงการล้ง 1919 โดยจัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันพุธที่ 8 สิงหาคม 2561
รุจิราภรณ์ หวั่งหลี ผู้บริหารโครงการล้ง 1919 กล่าวว่า "ในปีนี้ ล้ง 1919 กำลังจะเข้าสู่การฉลอง 100 ปี จึงเกิด นาล้ง แห่งนี้ขึ้น จากความตั้งใจที่เราอยากรื้อฟื้นความทรงจำในอดีตตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษของตระกูลหวั่งหลี ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการค้าขายข้าว และเพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้เห็นกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำที่เราได้ทานข้าวกัน จึงนำนาข้าวที่เชื่อว่าจะหาชมกันได้ยาก มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการข้าวไทยให้ชม โดยจะมีกิจกรรม อาทิ การจำลองนาข้าวเขียวชอุ่มท่ามกลางอาคารประวัติศาสตร์ การจัดแสดงข้าวสายพันธุ์ต่างๆ จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย การจัดนิทรรศการนำเสนอภูมิปัญญาและนวัตกรรมเกี่ยวกับข้าวในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟ เหมาะกับการเรียนรู้สำหรับทุกเพศทุกวัย และไฮไลต์คือการให้ทุกคนได้มาทดลองการดำนา สัมผัสประสบการณ์ตรงด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก เพราะจะมีสักกี่คนในชีวิตนี้ที่เคยได้ลองดำนาจริงๆ
"ภายในงานแบ่งออกเป็น 3 โซน คือ 1) โซนแปลงนา ร่วมมือกับแปลงนาเกษตรกรจากจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ให้ทุกคนได้อิ่มเอมในบรรยากาศทุ่งนาเขียวชอุ่ม จัดแสดงนาข้าวทั้ง 3 ระยะอายุ คือ แตกกอ ตั้งท้อง และออกรวง แสดงประติมากรรมหุ่นฟางข้าวรูปพระแม่โพสพ พระแม่ธรณี และพระแม่คงคา 3 เทวีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อของเกษตรกร รวมทั้งมีกระบือมาร่วมโชว์ให้ได้บรรยากาศท้องนาอย่างเต็มที่
"2) โซนนิทรรศการความรู้และผลิตภัณฑ์จากภูมิภาค จัดแสดงนิทรรศการจากครอบครัว หวั่งหลี บอกเล่าเรื่องราวบนพื้นที่ฮ่วยจุ่งล้ง นิทรรศการจากเครือข่ายชาวนาไทย จัดแสดงข้าวไทยหายาก 100 สายพันธุ์ จังหวัดร้อยเอ็ดจัดแสดงภูมิปัญญาและนวัตกรรมข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุด เสวนาประสบการณ์จาก Young Farmer กลุ่มชาวนารุ่นใหม่ และร่วมสัมผัสการหุงข้าวแบบดั้งเดิม ชิมข้าวไทยหุงหอมๆ หลายสายพันธุ์ รวมทั้งเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ข้าวสายพันธุ์ต่างๆ จากโครงการประชารัฐและเครือข่ายเกษตรกร และ
"3) โซนการเรียนรู้การดำนา บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ผู้เข้าชมงานจะได้ดำนาจริงด้วยตัวเอง ซึ่งเชื่อว่านอกจากประชาชนทั่วไป ยังมีเหล่านักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ให้ความสนใจและเข้ามาชมกันตลอดช่วงเวลาจัดแสดง"
สำหรับบรรยากาศในพิธีเปิดงาน เริ่มจาก พิธีทำขวัญข้าว - ไหว้แม่โพสพ เอาฤกษ์เอาชัยที่นาล้ง ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวนาไทย ทำพิธีรับขวัญต้นข้าวที่กำลังตั้งท้องก่อนจะออกรวง พิธีดังกล่าวนำโดย หมอขวัญจากจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีสมาชิกครอบครัวหวั่งหลีร่วมพิธีอย่างอบอุ่น ทั้ง สุจินต์ หวั่งหลี, วุฒิชัย หวั่งหลี, วิพุธ หวั่งหลี, วุฒิพล หวั่งหลี, ดร.ศรัณฐ์ หวั่งหลี ฯลฯ ก่อนแขกผู้มีเกียรติ อาทิ นวลพรรณ ล่ำซำ, ตวงพร ทรัพย์สาคร, สมเกียรติ มรรคยาธร, เรือเอกภักดี ผ่องใส และ อนุษฐา เชาว์วิศิษฐ์ ฯลฯ มาร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงานและชมนาล้งอย่างคับคั่ง รวมถึง ทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย ที่นอกจากมาชมงานแล้ว ยังถือโอกาสขอพร เจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) ก่อนเดินทางไปชิงชัยในศึกเอเชี่ยนเกมส์ ที่ประเทศอินโดนีเซีย
งานนี้ มาดามแป้ง – นวลพรรณ ล่ำซำ ไม่พลาด นำทีมแขกขอลุยโคลนลงดำนาด้วยตัวเอง ให้ได้สัมผัสความเป็นชาวนาและเรียนรู้คุณค่าของข้าวแบบใกล้ชิด มาดามแป้ง เผยถึงประสบการณ์ลุยโคลนดำน้ำด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า มีความสุขมากและทำให้เข้าใจความเหนื่อยยากของชาวนาที่ได้ยินมาตั้งแต่เด็กว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติเลยว่าเป็นอย่างไร
"หลายคนรู้จักแป้งว่านามสกุลล่ำซำ แต่จริงๆ แล้วนามสกุลเดิมของคุณย่าสงวน ล่ำซำ ซึ่งเป็นคุณย่าแท้ๆ ของแป้ง คือ หวั่งหลี เช่นเดียวกับคุณทวดของแป้งก็นามสกุลหวั่งหลี เพราะฉะนั้น สำหรับแป้งตระกูลหวั่งหลี ซึ่งดำเนินธุรกิจค้าข้าวและเป็นโรงสีข้าวมายาวนานกว่า 180 ปี เรียกได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของแป้งเช่นกัน เพราะฉะนั้นวันนี้เมื่อล้ง 1919 จัดงาน "นาล้ง" แป้งเลยพาน้องๆ ฟุตบอลทีมชาติหญิง ซึ่งบ้านของหลายๆ คนเป็นชาวนาอยู่แล้วมาร่วมงาน ถือเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาม แฮปปี้ ได้ดื่มด่ำกับวีถีชีวิตแบบไทยๆ และยังอดภาคภูมิใจไม่ได้ที่ได้มาปลูกข้าวในผืนดินของบรรพบุรุษ"
มาดามแป้ง ยังบอกด้วยว่า หวังว่ากิจกรรมครั้งนี้จะกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หันมาเรียนรู้วิถีความเป็นไทย เห็นคุณค่าของข้าวไทยมากขึ้น เพราะประเทศไทยถือเป็นประเทศกสิกรรมที่ปลูกข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ต่อให้โลกจะหมุนไว เข้าสู่โลกดิจิทัล แต่สุดท้ายการทำนาก็ยังเป็นประเพณีที่สืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น และ เกษตรกรรมก็ยังเป็นธุรกิจหลักของประเทศ
ด้าน อนุษฐา เชาว์วิศิษฐ เผยว่าการดำนาครั้งนี้เหมือนฝันที่เป็นจริง เพราะอยากดำนามานานแล้วแต่ไม่มีโอกาส การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้นอกจากจะทำให้เห็นถึงความเหนื่อยยากของชาวนาแล้ว ยังได้เรียนรู้คุณค่าของข้าวไทย
"เวลานั่งรถผ่านเห็นทุ่งนา ก็นึกมาตลอดว่าอยากดำนาแต่ไม่มีโอกาสสักที จนวันนี้เหมือนฝันที่เป็นจริง รู้สึกดีมากๆ ถึงจะได้ลองดำนาแค่ไม่นาน แต่ก็เข้าใจความรู้สึกของชาวนาที่เราได้ยินมาตั้งแต่เด็กว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ หลังจากมาดำนาครั้งนี้ ตั้งใจเลยว่า จากนี้จะไม่กินข้าวให้เหลือสักเม็ด เพราะรู้เลยว่า กว่าจะออกมาเป็นข้าวแต่ละเม็ด ชาวนาต้องใช้หยาดเหงื่อและความทุ่มเทขนาดไหน และก็อยากถือโอกาสนี้เชิญชวนให้ทุกคนมาเรียนรู้และซึมซับวิถีความเป็นไทย และส่งเสริมให้ข้าวไทยกลายกลายเป็นข้าวที่คนทั่วโลกนึกถึง"
สำหรับบุคคลทั่วไป สามารถเข้าชมงาน "นาล้ง" นิทรรศการข้าวไทย นากลางกรุงริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างวันที่ 8-19 สิงหาคม 2561 ณ โครงการล้ง 1919 ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถ.เชียงใหม่ เขตคลองสาน เปิดให้เข้าชมฟรี ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมทางเฟซบุ๊คแฟนเพจ LHONG1919