กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
ดร. อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และคณะเดินทางไปยัง เมืองแดจอน สาธารณรัฐเกาหลี ในวันที่ 8 - 10 สิงหาคม 2561 เพื่อร่วมประชุมและติดตามการดำเนินกิจกรรมภายใต้บันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบมาตรวิทยารังสี ร่วมกับสถาบันวิจัยด้านมาตรฐานและวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐเกาหลี (THE KOREA RESEARCH INSTITUTE OF STANDARDS AND SCIENCE: KRISS) และมูลนิธิความร่วมมือนานาชาติด้านนิวเคลียร์แห่งสาธารณรัฐเกาหลี (THE KOREA NUCLEAR INTERNATIONAL COOPERATION FOUNDATION: KONICOF) ซึ่งได้มีการลงนามร่วมกัน เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา
ดร.อัจฉรา เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสามัญขององค์กรระหว่างประเทศด้านมาตรวิทยาแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Asia Pacific Metrology Programme: APMP) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เพื่อประสานความร่วมมือกับ 25 ประเทศสมาชิกสามัญ และ 11 ประเทศสมาชิกสมทบ ในการเสริมสร้างศักยภาพการดำเนินงานด้านมาตรวิทยารังสี และสนับสนุนความปลอดภัยด้านการใช้พลังงานปรมาณูแก่ผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน และสิ่งแวดล้อม
การเยือนสาธารณรัฐเกาหลีในครั้งนี้ ดร. อัจฉรา ได้ร่วมประชุมเพื่อติดตามการดำเนินกิจกรรมภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าว และหารือการวางแผนจัดกิจกรรมของประเทศไทยในอนาคต รวมทั้งเยี่ยมชมการดำเนินงานของ KONICOF และ KRISS อีกด้วย ในระหว่างนี้ ปส. ได้มอบหมายให้ นายธนพล เดชวิริยะกิจ นักฟิสิกส์รังสีปฏิบัติการ และนายพงษปณต รินทตยาธรณ์ นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ปฏิบัติการ กองพัฒนาระบบและมาตรฐานกำกับดูแลความปลอดภัย ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของ ปส. เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร Training and Education on the absolute Measurements of the Air Kerma from the Medium - Energy X-ray Beams ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2561 ที่จัดโดย KRISS ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพและเพิ่มพูนประสบการณ์ด้านมาตรวิทยารังสีของนักวิชาการของ ปส. ส่งเสริมและยกระดับการดำเนินงานด้านมาตรวิทยารังสีของประเทศไทย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาระบบวัดรังสีมาตรฐานของประเทศจากระดับทุติยภูมิไปเป็นระดับสูงสุด คือ ระดับปฐมภูมิ (Primary Standard) โดยสอดคล้องกับโครงการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการทางนิวเคลียร์และรังสีที่จะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านมาตรวิทยารังสีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค
นอกจากนี้ ดร. อัจฉรา และคณะ ยังมีกำหนดการเยี่ยมชมการดำเนินงานด้านการเฝ้าระวังและเตรียม
ความพร้อม ในสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ของสถาบันวิจัยด้านพลังงานปรมาณูแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Atomic Energy Research Institute: KAERI) เพื่อศึกษาแนวทางและนำมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานของ ปส. เพื่อเพิ่มศักยภาพและพร้อมรับมือในสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย