กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
10 สิงหาคม 2561 เวลา 09.30 น. นางสาววิไลวรรณ ตันจ้อย รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณู เพื่อสันติ ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "การสร้างความรู้ความเข้าใจแผนปฏิบัติการของนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2560 - 2564" ณ ห้องแคทลียา ตึกรามาวิงส์ โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพมหานคร
นางสาววิไลวรรณ กล่าวว่า นโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ พ.ศ. 2560 - 2569 ผ่านความเห็นชอบของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 14 มีนาคม 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในด้านพลังงานนิวเคลียร์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ รับหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุมหารือร่วมกันเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการของนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2560 - 2564 โดยมุ่งเน้นยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1. ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านพลังงานนิวเคลียร์ 2. การกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานนิวเคลียร์ 3. การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านพลังงานนิวเคลียร์ และ 4. การส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
นางสาววิไลวรรณ กล่าวต่อไปว่า วัตถุประสงค์หลักของการจัดประชุมครั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจแผนปฏิบัติการฯ การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในระยะที่ 1 พ.ศ. 2560 - 2561 โครงการที่จะดำเนินการในปี พ.ศ. 2562 และการระดมความคิดเห็นในการทบทวนแผนงาน หรือโครงการ รวมถึงเตรียมจัดทำคำของบประมาณประจำปี พ.ศ. 2563 – 2564 เชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ตามเป้าหมายหลักที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ของภูมิภาคอาเซียน และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยทีมวิทยากรจาก ปส. และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. และมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนกว่า 100 คน ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และผู้แทนจากภาคการศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการวางรากฐานการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของประเทศ และเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่นคงและยั่งยืน