กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
ในปัจจุบันประเทศไทยยังมีระบบการจัดการขยะที่ไม่เหมาะสม เพราะหลายคนยังคงมองว่าปัญหาปริมาณขยะเป็นเรื่องไกลตัว เห็นได้จากการพบเจอขยะได้ทุกที่ ไม่เว้นแม้กระทั่งในแหล่งน้ำ จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ในปี 2560 เผยว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดอันดับ 6 ของโลก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศ อาทิ การเน่าเสียของแหล่งน้ำ ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วหรือไม่ในการร่วมมือกันจัดการปัญหาการทิ้งขยะให้ถูกที่ เพื่อลดปริมาณขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
"พายเรือเก็บขยะกว่า 2 ตัน คือจุดเริ่มต้นที่ในการเปลี่ยนตนเองเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมยั่งยืน"
นางสาวนาถชญา ประสมเพ็ชร์ หรือ น้องปุยฝ้าย นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หนึ่งในนักศึกษาอาสาสมัครจากธรรมศาสตร์ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำระยอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม "พลาสติก ไรท์ส" (Plastic Rights) ได้บอกเล่าความรู้สึกหลังได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมว่า ตนรู้สึกดีใจ ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ และนับเป็นการร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยสามารถเก็บขยะและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ได้กว่า 2 ตัน ส่วนมากเป็นขยะพลาสติกและผักตบชวา แต่ยังถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะแท้จริงแล้วการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนั้น คือ การรณรงค์ป้องกันไม่ให้มีการทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ หรือพื้นที่ทางธรรมชาติอื่น ๆ รวมทั้งควรส่งเสริมให้มีการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับคนในชุมชนตามพื้นที่ต่าง ๆ ให้เห็นถึงคุณค่าของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากจะช่วยในเรื่องของระบบนิเวศแล้ว ยังช่วยให้วิวทิวทัศน์ที่สวยงามของแม่น้ำระยองไม่ถูกบดบังด้วยความสกปรกจากขยะและสิ่งปฎิกูลต่าง ๆ ตลอดจนการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการกับขยะพลาสติกอย่างเหมาะสม อาทิ การคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และการนำขยะไปใช้ใหม่หรือรีไซเคิล
น้องปุยฝ้าย กล่าวเสริมว่า การที่ตนมาเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพราะตนเห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการทิ้งขยะในที่ที่ไม่เหมาะสม อาทิ การทิ้งขยะลงแม่น้ำ อย่างที่พบเห็นขณะร่วมกิจกรรม ตลอดสายแม่น้ำยังคงพบขยะพลาสติกจำนวนมาก มักเป็นขยะชิ้นเล็ก ๆ จำพวก ซองขนม แก้วพลาสติก หรือแม้แต่ รองเท้าแตะ อีกทั้งในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการเก็บขยะมูลฝอยในแม่น้ำหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ดังนั้นการร่วมมือกันแก้ปัญหาดังกล่าว จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมมือกัน และร่วมกันสร้างจิตสำนึกให้เกิดการอนุรักษ์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน อีกทั้งการช่วยเหลือชุมชนในการจัดการกับปัญหาขยะในแม่น้ำลำคลองในครั้งนี้ ยังเป็นการแสดงออกถึงจิตวิญญาณในการรับใช้ประชาชนและสังคมของชาวธรรมศาสตร์โดยแท้จริง
".....การได้มาร่วมกิจกรรมพายเรือเก็บขยะ มิใช่เพียงการช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ได้ช่วยเหลือสัตว์น้ำ และการจัดกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ขึ้นในพื้นที่ในชุมชนเดียวเท่านั้น แต่อาสาสมัครทุกคนเปรียบเสมือนกระบอกเสียง ที่สร้างแรงผลักดันทางสังคม ให้ตระหนักถึงปัญหาการทิ้งขยะไม่เป็นที่และหันมารักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง จึงอยากสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมหรือโครงการเช่นนี้อีกในทุกพื้นที่ เพื่อเป็นการสร้างค่านิยม จิตสำนึกในเรื่องของการรักษาความสะอาดและการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในทุกชุมชน....." น้องปุยฝ้าย กล่าวทิ้งท้าย
"ธรรมศาสตร์มิได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพียงในมหาวิทยาลัยเท่านั้น"
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดำเนินการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยยั่งยืน (Sustainable University) แต่ มธ. มิได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพียงในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังคงดำเนินการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนภายนอกอีกด้วย โดย มธ. คือสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยที่ริเริ่มกิจกรรมพายเรือเพื่ออนุรักษ์แหล่งน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อต่อยอดความสำเร็จในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกันระหว่าง มธ. และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) จัดงาน "พลาสติก ไรท์ส" (Plastic Rights) นำขบวนเรือคายัคจำนวนกว่า 40 ลำ โดยมีนักศึกษาและบุคลากรจาก มธ. จิตอาสาและผู้ที่สนใจกว่า 100คน ร่วมพายเรือเก็บขยะตามริมฝั่งและเกาะกลางในแม่น้ำระยอง จากสวนสาธารณะโขดปอสู่วัดปากน้ำ ระยะทางรวม 3.5 ก.ม. โดย มธ. มีความตั้งใจว่าในอนาคตจะขยายพื้นที่การจัดกิจกรรมเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยั่งยืนเช่นนี้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมและปลูกจิตสำนึกให้กับคนในชุมชนให้มีจิตใจอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มธ. โทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th/news