กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--ตลท.
ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดตัวหนังสือ “พระมหาธรรมราชาลิไทกับไตรภูมิกถา” ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับไตรภูมิพระร่วง ที่นับเป็นวรรณกรรมไทยที่มีความสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่ง โดยมีอิทธิพลด้านความคิดต่อสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน มีคุณค่าทั้งทางศาสนา ให้เกิดความเข้าใจเรื่องของที่มาและที่ไปของชีวิต คุณค่าในการใช้ภาษาที่ประณีต และคุณค่าทางสังคม บอกเล่าแนวคิดในการใช้คุณธรรมความดีเพื่อสร้างความสุขในสังคม
หนังสือ “พระมหาธรรมราชาลิไทกับไตรภูมิกถา” เล่มนี้ นอกเหนือจากเนื้อหาที่ทรงคุณค่าแล้ว ยังโดดเด่นด้วยรูปวาดที่ปรากฏในสมุดข่อยฉบับกรุงศรีอยุธยา และภาพลายเส้นที่คัดลอกจาก สมุดข่อยดังกล่าวโดย อาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2532 รวมถึงการเรียบเรียงเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปะ นายนวรัตน์ เลขะกุล ซึ่งในอดีตเป็นผู้บริหารระดับสูงและที่ปรึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ ก.ล.ต. มีความภาคภูมิใจในการจัดทำหนังสือนี้เพื่อเป็นวิทยาทานและสืบสานวรรณกรรมอันเป็นมรดกชิ้นสำคัญของชาติ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้ประโยชน์ ทั้งความรู้ประวัติศาสตร์และข้อคิดเรื่องคุณธรรมความดีจากหนังสือเล่มนี้ ทั้งนี้ ขอขอบคุณตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ”
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับ ก.ล.ต. ในการจัดพิมพ์หนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากวรรณกรรมไทยอันทรงคุณค่าเล่มนี้ นอกเหนือจากคุณค่าในด้านต่าง ๆ แล้ว ด้วยคุณภาพของการใช้ภาษาและการใช้ศิลปะที่ประณีต อันเป็นผลงานที่สร้างสรรค์โดยศิลปินระดับชาติ จึงนับว่าเหมาะสม อย่างยิ่งที่จะได้มีการเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในวงกว้าง และเชื่อมั่นว่าผู้ที่ได้อ่านและสัมผัสหนังสือเล่มนี้จะได้รับประโยชน์ ทั้งจากเรื่องราวและศิลปะที่ถ่ายทอดผ่านวรรณกรรมไทยในหนังสือเล่มนี้ได้เป็นอย่างดี”
นายนวรัตน์ เลขะกุล ผู้เขียน ได้กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่า “หนังสือเล่มนี้มีขนาด 200 หน้า โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เกี่ยวกับสมุดภาพคัมภีร์ไตรภูมิกถา และส่วนที่เกี่ยวกับ พระมหาธรรมราชาลิไท ผู้ทรงนิพนธ์คัมภีร์ไตรภูมิกถาขึ้น ส่วนแรกของหนังสือนั้น เป็นการเล่าถึง การร่วมมือกันคัดลอกสมุดภาพคัมร์ไตรภูมิกถา ระหว่าง อาจารย์และศิษย์คู่หนึ่ง คือ อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ กับ อาจารย์ อังคาร กัลยาณพงศ์ เมื่อ 44 ปีมาแล้ว ซึ่งนอกจากจะเล่าถึงขั้นตอนวิธีการคัดลอกภาพของอาจารย์อังคารและการแก้ไขโดยอาจารย์เฟื้อแล้ว ยังได้เล่าถึงความแพร่หลายของคัมภีร์ไตรภูมิกถาฉบับสมุดภาพ ในฐานะที่เป็นสื่อคำสอนในพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นหลังจากที่ชาวอยุธยาสามารถผลิตกระดาษข่อยขึ้นได้ การไว้ผมทรงมหาดไทยของไพร่ในสมัยอยุธยา การนำอาวุธปืนเข้ามาใช้ในราชการ ชาวต่างประเทศในนรกของศาสนาพุทธ และการใช้ตาชั่งตรวจจดความดีและชั่วในนรก การชั่งน้ำหนักปืนใหญ่ พระพิรุณแสนห่าในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นต้น
สำหรับส่วนที่สองเป็นประวัติศาสตร์ในสมัยสุโขทัยในรัชกาล พระมหาธรรมราชาลิไท โดยกล่าวถึงผลงานพระราชนิพนธ์ “คัมภีร์ไตรภูมิกถา” ที่แสดงถึงความเป็นนักปราชญ์ในทางศาสนาของพระองค์ แล้วยังทรงเป็นนักรบ นักปกครองที่มีความสามารถสูงที่ใช้หลักธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนามาประยุกต์เข้ากันนโยบายการปกครองจนเกิดเป็นหลักการปกครองที่บรรดากษัตริย์ที่จะต้องประพฤติธรรมและสั่งสอนพลเมืองให้ปฏิบัติธรรมด้วย และแม้ว่าพระมหาธรรมราชาจะทรงศีล ปฏิบัติธรรมจนกระทั่งออกบรรพชาด้วยปรารถนาจะกลับมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตก็ตาม แต่พระองค์ก็ทรงสามารถที่จะรวบรวมอาณาจักรที่แตกออกกลับเข้ามาอยู่ร่วมกันภายใต้การปกครองของพระองค์ได้ด้วยนโยบายการปกครองด้วยธรรมนี้ และในการนี้ ยังได้เสนอชื่อของ ผู้ที่เป็นกษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงเพิ่มขึ้นอีกพระองค์หนึ่ง อีกด้วย
ในตอนท้ายของหนังสือได้กล่าวถึงส่วนของความบันดาลใจที่ทำให้เกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้นนั้น กล่าวได้ว่ามาจากความปรารถนาที่จะให้ชาวไทยได้มีโอกาสได้เห็นภาพต้นฉบับที่เป็นฝีมือของอาจารย์อังคาร ที่มีอาจารย์เฟื้อเป็นผู้ตรวจแก้ร่างภาพลายเส้นที่เขียนขึ้น เนื่องจากเมื่อได้นำภาพลายเส้นไปลอกโอนลายภาพลงในสมุดข่อยและลงสีโดยอาจารย์เฟื้อ เรียบร้อยแล้ว กรมศิลปากรก็จัดส่ง สมุดภาพคัมภีร์ไตรภูมิกถานั้น ไปยังพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกา ตามที่ได้ติดต่อขอความร่วมมือมา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีชาวไทยเพียงไม่กี่คนที่ได้เคยเห็นภาพที่กล่าวนี้ โดยที่ต้นฉบับภาพร่างฝีมืออาจารย์อังคารยังคงตกอยู่ในประเทศไทย ดังนั้น แม้ว่าจะเป็นเพียงภาพลายเส้นก็ตาม แต่ด้วยความสามารถของอาจารย์อังคาร ลายเส้นที่กล่าวก็ยังสะท้อนออกมาได้ถึง อารมณ์ และความงดงามของจิตรกรรมในสมัยอยุธยาตอนปลายได้อย่างชัดเจน และหนังสือเรื่อง “พระมหาธรรมราชาลิไทกับไตรภูมิกถา” ก็ได้นำภาพเหล่านี้มาเสนอให้ชมแล้วอย่างละเอียด”