Super Poll วิพากษ์การสำรวจความคิดเห็น แก้ไข กฎหมายเลือกตั้ง ผ่านเว็บสำนักงานเลขาวุฒิสภา

ข่าวทั่วไป Tuesday August 14, 2018 14:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล บทวิพากษ์ การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติซึ่ง สนช. เป็นผู้เสนอ เกี่ยวกับ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดย ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล www.superpollthailand.net หลังจากที่ผลสำรวจด้วยแบบสอบถามอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ฉบับที่...) พ.ศ.....ถูกระบุโดยสำนักข่าวต่าง ๆ ว่า เริ่มต้นมีการตอบแบบสอบถามเข้ามาจำนวน 6,800 คน ที่คนส่วนใหญ่ 88% เห็นด้วย แต่เวลาผ่านไปเพียง 4 ชั่วโมง จำนวนคนเพิ่มเป็น 4 หมื่นกว่าคนและผลสำรวจกลับเปลี่ยนไปว่า คนส่วนใหญ่ร่วม 90% ไม่เห็นด้วย ทำให้เกิดคำถามต่อมาว่าอะไรทำให้ข้อมูลเป็นเช่นนี้ หลังจากได้เข้าไปตอบแบบสอบถามอิเล็กทรอนิกส์ชุดนี้ เมื่อเวลาตีสามกว่า ๆ ของเช้าวันเสาร์ที่ ๑๑ สิงหาคมที่ผ่านมา เลือกเวลานี้เพราะเชื่อว่าน่าจะเหลือคนเดียวที่กำลังตอบแบบสอบถามของเว็บไซต์ http://questionnaire.senate.go.th/mod/questionnaire/view.php?id=344 จึงพบว่า คนตอบคนเดียวสามารถตอบซ้ำ ๆ ได้หลายครั้ง โดยคลิกเข้าไปที่ลิงค์แบบสอบถามได้อีก ครั้งแรกเริ่มตอบตอนเวลา 03.18 น. ตัวเลขจำนวนครั้งได้ 72,026 เมื่อกดคลิกส่งแบบสอบถามไปอีก 8 ครั้งถึงเวลา 03.28 น. ก็ปั่นได้เป็น 72,034 ครั้ง จึงน่าเป็นห่วงว่า ข้อมูลที่ได้อาจเบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริงของสาธารณชนและผิดหลักในศาสตร์แห่งการสำรวจ ด้วยเหตุผลอย่างน้อยสามประการ ประการแรก ไม่มีการสุ่มตัวอย่างคนตอบแต่เปิดให้คนตอบเสนอตัวเข้ามาตอบ ผลที่ตามมาคือ ข้อมูลที่ได้รับจะเต็มไปด้วย อคติ และความคลาดเคลื่อน สามารถเปิดอ่านตำราได้ใน หนังสือ ชื่อ Survey Methodology โดย Robert Groves, Mick Couper, และ James Lepkowski, เพราะการสำรวจความคิดเห็นจากตัวอย่างของสาธารณชนที่ถูกต้องตามหลักวิชาการต้องมีการสุ่มตัวอย่างที่ใช้หลักสถิติความน่าจะเป็นในการเลือกตัวอย่างผู้ตอบ ไม่ทำให้ผลการสำรวจกลายเป็น "ยกพวกกันมา" เป็นกฎหมู่เหนือกฎหมายที่จะแก้ไขกันอยู่ตอนนี้ ประการที่สอง หลักการออกแบบสอบถามที่ดีควรสั้นกระทัดรัดประเด็นเดียว แต่เมื่ออ่านคำถามข้อหนึ่งพบว่ามีความยาวถึงห้าบรรทัดกว่ามีหลายประเด็นอยู่ในข้อเดียวกันส่งผลให้เกิดการสร้างภาระของคนตอบ คนตอบอ่านแล้วอาจไม่เข้าใจข้อคำถามและอาจจะตอบมาแบบมั่วเหมารวมส่งผลกระทบต่อคุณภาพของข้อมูลได้ ประการที่สาม ข้อมูลจากการสำรวจนี้ไม่ครอบคลุมกลุ่มประชากรเป้าหมายเพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์นี้ได้ทุกคน จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2559 พบว่า คนนอกเขตเทศบาลซึ่งถือเป็นส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึงอินเตอร์เนตเพียงร้อยละ 39.5 เท่านั้น ดังนั้นความไม่ครอบคลุมนี้อาจก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนที่เรียกว่า Non-Coverage Error ในผลสำรวจที่เผยแพร่ออกมาได้ ดังนั้น ผู้ใหญ่ในสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจึงควรทบทวนกระบวนการสำรวจเหล่านี้เสียใหม่เพื่อปกป้องสถาบันและความน่าเชื่อถือต่อองค์กรอันทรงเกียรติของประเทศ มิให้กลายเป็นต้นตอของความผิดพลาดในหลักวิชาการของการสำรวจความคิดเห็นสาธารณชนและความขัดแย้งวุ่นวายในหมู่ประชาชนเสียเอง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ