กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--ตลท.
ก.ล.ต. แถลงผลงาน 4 ปีที่ผ่านมา เป็นไปตามเป้าหมาย โดยได้เพิ่มความน่าเชื่อถือและความสามารถในการแข่งขันให้แก่ตลาดทุนไทย ส่วนแผนงานปี 51 นั้น จะเน้นเร่งเพิ่มความหลากหลายของสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุน และเน้นคุ้มครองผู้ลงทุนเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มบทบาทในเวทีต่างประเทศ
วันนี้ (19 ธันวาคม 2550) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยผลงานที่สำคัญ ๆ ในโอกาสที่ดำรงตำแหน่งในวาระที่หนึ่งครบ 4 ปี (2547-2550) ดังนี้
1. ด้านการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ตลาดทุนไทยงานด้านนี้เป็นงานที่ได้เน้นมากเป็นพิเศษ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2547 ก.ล.ต. ได้จัดตั้งทีมงานขึ้นเพื่อทำการวิเคราะห์และตรวจสอบงบการเงิน (accounting surveillance) ของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ เป็นประจำ เพื่อป้องกันการทุจริตและเอาเปรียบผู้ถือหุ้น จากการตรวจสอบดังกล่าว ก.ล.ต. พบประเด็นผิดปกติที่นำไปสู่การสั่งให้แก้ไขงบการเงินในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา 29 บริษัท รวมทั้งสามารถตรวจสอบเชิงลึกพบการกระทำทุจริตจนกล่าวโทษดำเนินคดีได้อีกด้วยหลายกรณี
การติดตามใกล้ชิดดังกล่าวช่วยเสริมสร้างความมั่นใจอย่างกว้างขวางแก่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังเห็นได้ว่าในปี 2548 ตลาดทุนไทยเข้าร่วมโครงการประเมินการบริหารจัดการที่ดี (Corporate Governance - Reports on the Observance of Standards and Codes) โดยธนาคารโลก และได้สอบผ่านมาตรฐานดังกล่าว รวมทั้งต่อมาในปี 2550 ก็ได้เข้าโครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และได้รับผลประเมินย้ำว่าการกำกับดูและด้าน Corporate Governance (CG) ของตลาดทุนไทยนั้น อยู่ในระดับได้มาตรฐานเป็นที่น่าพอใจอีกด้วย
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้เร่งรัดให้มีการปรับปรุงมาตรฐานบัญชีให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล IAS/IFRS เพื่อให้การจัดทำงบการเงินเป็นไปตามมาตรฐานที่สูงยิ่งขึ้น รวมทั้ง ก.ล.ต. ได้ร่วมมือกับองค์กรอิสระต่างๆ ในตลาดทุนเพื่อผลักดันการประเมิน CG ของบริษัทจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง เช่น จัดทำโครงการประเมินคุณภาพการจัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัทจดทะเบียนมา 2 ปีแล้ว และสนับสนุนสถาบันกรรมการไทยในการทำการประเมินการเปิดเผยเรื่อง CG ของบริษัทจดทะเบียน เป็นต้น
2. ด้านการเพิ่มบทบาทตลาดทุนไทยในเวทีต่างประเทศผลักดันให้ไทยมีบทบาทเป็นผู้นำในเวที ก.ล.ต. โลก (IOSCO) โดยเลขาธิการ ก.ล.ต. ไทยได้รับเลือกเป็นประธาน Asia Pacific Regional Committee สองสมัยติดกัน ซึ่งช่วยให้สามารถสื่อถึงมาตรฐานการทำงานของตลาดทุนไทยและสร้างความเชื่อมั่นในระดับสากลได้อย่างมาก รวมทั้งยังช่วยสื่อสารความคิดเห็นและปัญหาในมุมมองของประเทศกำลังพัฒนาเพื่อนำไปใช้ในการยกร่างมาตรฐานสากลต่าง ๆ เช่น ในปี 2549 - 2550 ก.ล.ต. ได้เสนอความเห็นเพื่อแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานบัญชีสากลที่กำลังยกร่างไปแล้วรวม 9 ฉบับ นอกจากนี้ ก.ล.ต. ไทยยังได้เป็นผู้ริเริ่มในการจัดประชุม ก.ล.ต. อาเซียนเป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อประสานงานประเทศต่าง ๆ ให้ปรับกฎระเบียบให้เป็นไปในทางเดียวกัน เป็นการปูพื้นทำให้มีการลงทุนในหลักทรัพย์ระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันในอนาคต
3. ด้านการพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อรองรับการแข่งขัน ก.ล.ต. ได้ประกาศนโยบายกำหนดเวลาอย่างเป็นขั้นตอนที่ชัดเจนในการเปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์และค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ใน ปี 2555 เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับการแข่งขันที่จะเพิ่มมากขึ้น โดย ก.ล.ต. ได้ประกาศเป็นนโยบายว่าพร้อมจะผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ เพิ่มความยืดหยุ่นในเรื่องช่องทางการจำหน่าย การเปิดสาขาและเวลาทำการ รวมทั้งขยายขอบเขตธุรกิจ ให้มากขึ้น
นอกจากนี้ เพื่อให้ตลาดทุนไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ ได้เร่งรัดให้มีการจัดตั้งตลาดอนุพันธ์ (TFEX) เมื่อปี 2549 เพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น และได้ประสานงานเพื่อปรับปรุงโครงสร้างตลาดตราสารหนี้โดยรวมศูนย์การซื้อขายไว้ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ปี 2547 ส่วนสมาคมตราสารหนี้ไทย (Thai BMA) ก็ได้ปรับให้ไปทำหน้าที่เป็น Self Regulatory Organization เพื่อทำหน้าที่กำกับติดตามสภาพตลาดตราสารหนี้ และทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดราคา (pricing agency) สำหรับตราสารหนี้ที่มีการซื้อขายไม่บ่อย รวมทั้งได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์หลายเรื่องเพื่อให้การออกและจำหน่ายตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศมีความคล่องตัวมากขึ้นและลดค่าใช้จ่ายด้านนี้ลง ซึ่งทำให้ในปี 2549-2550 มีการขายตราสารหนี้ภาคเอกชนเป็นจำนวนถึงปีละ 1.3 ล้านล้านบาท เทียบกับ 3 แสนล้านบาทในปี 2547
4. ด้านการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าในตลาดทุน ผลักดันให้หน่วยงานต่าง ๆ มีการศึกษาเพื่อเพิ่มสินค้าประเภทใหม่ๆ ในตลาดทุน โดยเฉพาะสินค้า
ที่ช่วยในการบริหารความเสี่ยงต่างๆ เช่น SET 50 ETF, SET50 Index Futures และ SET 50 Index Options รวมทั้งเสนอนโยบายที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในระยะแรกให้ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ซึ่งได้ช่วยให้ผู้ลงทุนมีทางเลือก
ในการลงทุนและกระจายความเสี่ยงมากขึ้น ในขณะเดียวกันจะช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้ทั้งในระดับผู้ลงทุนและบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งยอดเงินลงทุนต่างประเทศของกองทุนรวมเพิ่มขึ้น 15 เท่าจาก 400 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2549 เป็น 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปัจจุบัน (ตุลาคม 2550)
5. ด้านการออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ผลักดันให้มีการออกและแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มความคุ้มครองให้ผู้ลงทุน และยกระดับ CG รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมในตลาดทุน ได้แก่ การแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ (อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ออกกฎหมายการดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยให้ครอบคลุมถึงคดีหลักทรัพย์ด้วย (class action) (ผ่านการพิจารณาคณะกฤษฎีกาแล้ว อยู่ระหว่างรอเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ) กฎหมายทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน และการแก้ไขพ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ (ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว อยู่ระหว่างทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย) นอกจากนี้ ยังมีร่าง พ.ร.ก.นิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ที่คณะรัฐมนตรีรับหลักการแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ด้านการบังคับใช้กฎหมาย มีการดำเนินการกับผู้กระทำผิดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบของ ก.ล.ต. เอง และประสานงานใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น DSI สามารถทำให้มีการเปรียบเทียบปรับรวม 347 ราย เป็นเงินค่าปรับ 197,000,197.35 บาท และกล่าวโทษ 20 คดี โดยความผิดส่วนใหญ่เป็นเรื่องการประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต และคดีกรรมการทุจริตหรือมีความผิดเกี่ยวกับบัญชีหรือเอกสาร
สำหรับแผนงานปีต่อไป (ปี 2551) นายธีระชัย กล่าวต่อว่า ก.ล.ต. จะให้ความสำคัญในงาน 3 ด้านหลัก ได้แก่
1. ด้านการเพิ่มการเชื่อมโยงกับ ก.ล.ต. ต่างประเทศ
ก.ล.ต. มีแผนเข้าร่วมลงนามระดับพหุภาคีของ IOSCO เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการตรวจสอบการกระทำผิด กับ ก.ล.ต. ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งปรับปรุงเกณฑ์ของไทยและประเทศต่าง ๆ ให้สอดคล้องกันเพื่ออำนวย ความสะดวกสำหรับการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนในเอเชียด้วยกัน ขณะเดียวกันแผนงานปี 2551 ก็จะเปิดให้ ผู้ลงทุนไปลงทุนต่างประเทศได้หลายรูปแบบมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะลงทุนผ่านกองทุนต่างๆ หรือลงทุนเองโดยตรง นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะนี้กำลังศึกษาเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการบริหารกิจการของตนเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและพร้อมจะรับมือกับการแข่งขันจากภายนอก และเพิ่มโอกาสในการเข้าเป็น ส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ในโลกที่กำลังเกิดขึ้นและจะขยายมายังภูมิภาคนี้ ในเรื่องนี้ ก.ล.ต. ก็จะเตรียมแผนงานด้านการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับไว้ด้วยเช่นกัน
2. ด้านการกระตุ้นผู้ประกอบการเพื่อรองรับการแข่งขันก.ล.ต. จะเร่งผลักดันผู้ประกอบการให้เตรียมพร้อมรับการเปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ และเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ในอนาคต โดยมีการออกเกณฑ์ให้สามารถขออนุญาตทำธุรกิจได้อย่างครบวงจร ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนาตราสารทางการเงินใหม่ๆ และปรับเกณฑ์ให้ยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถจัดโครงสร้างบริษัทในกลุ่มให้เหมาะสมกับการทำธุรกิจของกลุ่ม รวมทั้งจะทยอยปรับปรุงกฎเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ เพื่อลดอุปสรรคและต้นทุนในการทำธุรกิจ โดยเน้นการกำกับดูแลแบบใช้การเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ลงทุนตัดสินใจเอง (disclosure based) ให้มากขึ้นแทนการที่ ก.ล.ต. ใช้ดุลยพินิจตัดสินใจแทนผู้ลงทุนทั้งหมดอย่างในปัจจุบัน
3. ด้านคุณภาพความน่าเชื่อถือขององค์กร ก.ล.ต. ได้แก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อปรับโครงสร้างของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ให้มีการดำเนินงานอย่างเป็นอิสระ โดยประธานกรรมการ ก.ล.ต. จะมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ แทนที่จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีการปรับโครงสร้างการทำงานภายใน ก.ล.ต. โดยเพิ่มคณะกรรมการกำกับตลาดทุนเพื่อทำหน้าที่ออกกฎเกณฑ์ในระดับที่มิใช่นโยบาย เพื่อแบ่งเบาภาระให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของ ก.ล.ต.ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม รวมทั้งพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงขององค์กรให้เท่าทันต่อเหตุการณ์
เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลแบบป้องกัน (preventive) อีกด้วย
นายธีระชัย กล่าวสรุปว่า “แนวโน้มตลาดทุนโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามพรมแดนรวดเร็วและมีมากขึ้น ก.ล.ต. จึงได้เสนอแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อเตรียมตลาดทุนไทยให้พร้อมรับการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าในเรื่องการพัฒนากฎเกณฑ์ให้เป็นมาตรฐานสากล ในเรื่องการทำสินค้าให้มีคุณภาพโดยการยกระดับ CG ของบริษัทจดทะเบียน และในเรื่องการผลักดันให้ผู้ประกอบการพร้อมรับการแข่งขัน โดย ก.ล.ต. ยินดีที่จะผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็ยังคงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้ลงทุน และมุ่งเพิ่มสินค้าและช่องทางการลงทุนให้หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ เพื่อให้การพัฒนาตลาดทุนไทยยั่งยืนต่อไป”