ผลกระทบจากสงครามจีนสหรัฐขยายวงต่อเศรษฐกิจโลกและภาคส่งออกไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 14, 2018 15:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เตือนสงครามการค้าสหรัฐจีนอาจจะขยายวงมากกว่าการตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กัน เกิดกระแสการรณรงค์ต่อต้านสินค้าของประเทศคู่ขัดแย้งเป็นสัญญาณอันตรายต่อระบบการค้าโลกและสันติภาพ สหรัฐอเมริกาอาจบีบจีนด้วยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเข้มงวดขึ้นพร้อมมาตรการกำหนดโค้วต้า จีนอาจลดค่าเงินหยวนและเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯส่งผลต่อความปั่นป่วนผันผวนในตลาดการเงินโลก และอาจมีการใช้กฎเกณฑ์เพื่อสร้างต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการทำธุรกิจต่อบริษัทต่างชาติ การบูรณาการของเศรษฐกิจและระบบการค้าโลกจะถูกท้าทาย สงครามการค้าจีนสหรัฐจะกระทบต่อมูลค่าการค้าโลกและห่วงโซ่อุปทานโลก และจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยอย่างชัดเจนในไตรมาสสี่ปีนี้โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลาง เนื่องจากสหรัฐฯ จีนและประเทศต่างๆอาจหันมาผลิตสินค้าขั้นกลางเองภายในประเทศมากขึ้น ทิศทางของเศรษฐกิจโลกน่าจะเคลื่อนตัวสู่โครงสร้างกลุ่มบูรณาการ 3 ภูมิภาคมากขึ้น คือ เขตการค้าเสรีทวีปอเมริกา อียูและเอเชียตะวันออก 13.30 น. 12 ส.ค. 2561 ที่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เตือนว่า สงครามการค้าจีนสหรัฐอาจขยายวงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบการค้าโลก ระบบการผลิตโลกและเศรษฐกิจโลก มากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและปริมาณการค้าเริ่มชะลอตัวลงทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน ผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยจะมากขึ้นตามลำดับในระยะต่อไป สงครามการค้าสหรัฐจีนอาจจะขยายวงมากกว่าการตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กัน เกิดกระแสการรณรงค์ต่อต้านสินค้าของประเทศคู่ขัดแย้งเป็นสัญญาณอันตรายต่อระบบการค้าโลกและสันติภาพ สหรัฐอเมริกาอาจบีบจีนด้วยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเข้มงวดขึ้นพร้อมมาตรการกำหนดโค้วต้า จีนอาจลดค่าเงินหยวนและเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯส่งผลต่อความปั่นป่วนผันผวนในตลาดการเงินโลก และอาจมีการใช้กฎเกณฑ์เพื่อสร้างต้นทุน และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการทำธุรกิจต่อบริษัทต่างชาติ การบูรณาการของเศรษฐกิจและระบบการค้าโลกจะถูกท้าทาย สงครามการค้าจีนสหรัฐจะกระทบต่อมูลค่าการค้าโลกและห่วงโซ่อุปทานโลก และจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยอย่างชัดเจนในไตรมาสสี่ปีนี้โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลาง เนื่องจากสหรัฐฯ จีนและประเทศต่างๆอาจหันมาผลิตสินค้าขั้นกลางเองภายในประเทศมากขึ้น ให้จับตาผลกระทบการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรหรือมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเกษตรหรืออาหารบางตัว ทิศทางของเศรษฐกิจโลกน่าจะเคลื่อนตัวสู่โครงสร้างกลุ่มบูรณาการ 3 ภูมิภาคมากขึ้น คือ เขตการค้าเสรีทวีปอเมริกา อียูและเอเชียตะวันออก ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า นักอนาคตศาสตร์มองว่าการเปลี่ยนแปลงพลิกผันจากเทคโนโลยีในอีกระลอกหนึ่งกำลังจะเกิดขึ้นอีกจากผลกระทบทางเทคโนโลยี 5G, Blockchain และ AI ที่สามารถทำให้ผู้คนทั่วไปสามารถทำธุรกรรมได้อย่าง Realtime และ Peer-to-Peer บนโทรศัพท์เครื่องที่ เพราะมีความชัดเจนแล้วว่าภายใน ปี ค.ศ. 2020 โทรศัพท์ 5G Smartphone จะติดตั้งซอฟต์แวร์ Blockchain, AI และมีปริมาณความจุข้อมูล (Data Storage) ที่สถาบันการเงินเคยสามารถทำได้ทั้งหมดบรรจุอยู่บน Smartphone ทุกเครื่อง จนทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถทำธุรกรรมระหว่างประเทศและธนาคารในประเทศต่างๆได้ สิ่งนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังของเทคโนโลยีในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจอุตสาหกรรมในเชิงโครงสร้าง พลังของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวควรจะทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกบูรณาการกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าจีนสหรัฐจะก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการบูรณาการมากขึ้นของเศรษฐกิจโลกแต่เป็นเรื่องชั่วคราวและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางของโลกาภิวัตน์ไร้พรมแดนได้ ขณะที่ระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมรวมศูนย์หรือระบบเศรษฐกิจภายใต้อำนาจผูกขาดจะไม่สอดคล้องกับโลกแห่งอนาคต ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีนในช่วง ค.ศ. 1980-2017 ทำให้เศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงที่สุดในโลกจากการเกินดุลการค้าจำนวนมากอย่างต่อเนื่องยาวนาน ประเทศจีนจึงกลายเป็นประเทศที่ท้าทายอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาซึ่งดำรงสถานะมหาอำนาจมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองและมีสถานะเป็น "เอกอัครมหาอำนาจ" หลังสิ้นสุดสงครามเย็นและการล่มสลายลงของสหภาพโซเวียต อนาคตโลกในระยะต่อไปจึงขึ้นอยู่กับ การพึ่งพาซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างซับซ้อนระหว่าง มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และ มหาอำนาจอย่างจีน หากทั้งสองประเทศยังสามารถรักษารูปแบบความสัมพันธ์แบบ "การแข่งขันแบบร่วมมือ" (Cooperative Competition) โลกก็ไม่น่าจะมีความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม การที่จีนแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้โดยไม่มีวาระ ทำให้ระบอบอำนาจนิยมแข็งตัวยิ่งขึ้น การผูกขาดอำนาจทางการเมืองเป็นเวลานานของกลุ่มชนชั้นนำกลุ่มเดิมจะกลายเป็นสิ่งที่แปลกแยกกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาด พลังของผู้ประกอบการที่เติบโตจากระบบทุนนิยมแบบจีนหลังยุค "เติ้งเสี่ยวผิง" จะท้าทายต่อการรวมศูนย์อำนาจมากขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในยุค "สีจิ้นผิง" ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ได้ผู้นำจากการเลือกตั้งที่มีสไตล์การบริหารแบบอำนาจนิยม มีการดำเนินนโยบายแบบไม่คงเส้นคงวาและบางครั้งสวนทางกับการเปิดเสรีในระบบการค้าโลก ในช่วงหนึ่งและสองทศวรรษข้างหน้านี้ ไทยรวมทั้งอาเซียนจะเป็นพื้นที่แห่งการช่วงชิง เข้ามามีบทบาท แย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ของสองมหาอำนาจ คือ จีนและสหรัฐอเมริกา กุศโลบายในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จึงมีความสำคัญยิ่งสำหรับไทย ประเทศซึ่งมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของภูมิภาค สามารถเชื่อมโยงกับทุกประเทศอาเซียนได้ จึงต้องเผชิญทั้งความเสี่ยงและโอกาสมากกว่า ประเทศอื่นๆ หากดำเนินการหรือตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ไม่ดีพอ อาจนำประเทศสูญเสียโอกาสได้ หากมีการวางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม มีรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ในการนำพาประเทศสู่ความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้จะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของประเทศไทย หากไม่ฉกฉวยและมุ่งมั่นในบรรลุเป้าหมายแล้ว โอกาสก็จะผ่านเลยไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง การยึดมั่นนิติรัฐ การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมเป็นหลักประกันพื้นฐานสำหรับอนาคตของประเทศ ทิศทางของเศรษฐกิจโลกน่าจะเคลื่อนตัวสู่โครงสร้างที่มีกลุ่มบูรณาการทางเศรษฐกิจใน 3 ภูมิภาคมากขึ้นตามลำดับ ได้แก่ กลุ่มเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกาอันมีสหรัฐอเมริกาและกลุ่มเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) เป็นผู้นำ กลุ่มอียูโดยมีเยอรมันและฝรั่งเศสเป็นผู้นำ กลุ่มเอเชียตะวันออกโดยมีจีนเป็นผู้นำ มีลักษณะเป็น ไตรภาพ (Tri-Polars) และ คงต้องติดตามพัฒนาการในระยะต่อไปของภูมิภาคตะวันออกกลาง และ ทวีปแอฟริกา ว่าจะขึ้นมามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจโลกอย่างไร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ