กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--มรภ.สงขลา
มรภ.สงขลา เปิดบ้านจัดประชุมวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ระดับชาติ โชว์ผลงานพัฒนาท้องถิ่นสนองพระบรมราโชบาย ร.10 พร้อมลงนามความร่วมมือ ม.ซายน์ มาเลเซีย
ผศ.นาถนเรศ อาคาสุวรรณ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการจัดประชุมวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ระดับชาติ ครั้งที่ 1 ภายใต้ชื่อ "มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ : พลังปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" ระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม 2561 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ มรภ.สงขลา ว่า ความน่าสนใจของงานประชุมวิชาการที่จัดขึ้นในครั้งนี้ คือการนำเสนอผลงานบริการวิชาการที่มุ่งพัฒนาท้องถิ่นของแต่ละโปรแกรมวิชาในคณะมนุษยศาสตร์ฯ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนองพระบรมราโชบายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงแนะนำการทำงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏให้ทำงานให้เข้าเป้า ตามบทบาทหน้าที่แห่ง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่กำหนดให้มีหน้าที่ยกระดับการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ของตนเป็นสำคัญ
ผศ.นาถนเรศ กล่าวว่า นอกจากนั้น ยังเป็นการเปิดเวทีสาธารณะด้านการวิจัยและวิชาการให้กับคณาจารย์ นักวิชาการ นิสิตและนักศึกษาได้แลกเปลี่ยนความรู้ อันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่าย ความร่วมมือทางวิชาการ ก่อให้เกิดการพัฒนาผลงานวิจัย สร้างสรรค์งานวิชาการที่เข้มแข็ง ยั่งยืน ตอบสนองความต้องการทางสังคมและประเทศชาติ ภายในงานมีปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ : พลังปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" โดย ศ.ดร.บุษบา กนกศิลปะธรรม อาจารย์ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "Wisdom power for sustainable development" โดย Professor Dr.Narimah Samat Dean School of Humanities มหาวิทยาลัยซายน์ มาเลเซีย (Universiti Sains Malaysia) พร้อมกันนี้จะมีพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างคณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา กับ มหาวิทยาลัยซายน์ มาเลเซีย เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 500 คน
ด้าน ดร.รัชชพงษ์ ชัชวาลย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าวว่า คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา กำหนดวิสัยทัศน์ในการเป็นคณะชั้นนำในภาคใต้ด้านการผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นสู่สากล โดยมุ่งมั่นจัดการศึกษาด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สร้างองค์ความรู้การบริการวิชาการที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนและสังคม โดยกำหนดกิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินงานและให้ความสำคัญต่อการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ ตอบสนองยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ด้านการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการวิจัยเชิงรุกและบริการเชิงล้ำเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นสู่มาตรฐานสากล