กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
เอสเอ็มอี แบงก์ ร่วมกับ สคบ. เร่งแก้ปัญหาความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคตั้งแต่ต้นน้ำ เตรียมวงเงินปล่อยกู้ให้โรงงานผู้ผลิตหม้อก๋วยเตี๋ยวเพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตเข้าสู่มาตรฐาน ผลักดันให้เลิกใช้สารตะกั่ว หลัง สคบ.ได้รับการร้องเรียนถึงภัยอันตรายจำนวนมาก
นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นางรัศมี วิศทเวทย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้หารือร่วมกับธนาคาร ถึงมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยอันตรายจากสารตะกั่วในหม้อก๋วยเตี๋ยว หม้อน้ำซุป ซึ่งปัจจุบันได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคได้รับสารพิษจากสารตะกั่วในหม้อต้มน้ำก๋วยเตี๋ยว จากการตรวจสอบของ สคบ. พบว่า การผลิตหม้อต้มน้ำก๋วยเตี๋ยวในท้องตลาดทั่วไปมีการใช้ตะกั่วในการปัดกรีรอยต่อต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้บริโภค
ทาง สคบ. ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ซึ่งธนาคารก็พร้อมจะร่วมมืออย่างเต็มที่ โดยต้องการแก้ไขอย่างเป็นระบบมุ่งไปที่ต้นตอของปัญหาคือ โรงงานผู้ผลิตเป็นหลัก โดยเอสเอ็มอี แบงก์ และสคบ. จะร่วมกันผลักดันให้ผู้ผลิตเลิกใช้สารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะสารตะกั่วพร้อมกับการสนับสนุนให้ผู้ผลิตเข้าสู่มาตรฐานสากล ส่วนมาตรการทางการเงินที่นำมาใช้ได้แก่ การให้เงินสนับสนุนในการเปลี่ยนเครื่องจักรที่มีมาตรฐานผ่านโครงการ Machine fund หรือใช้สินเชื่อเช่าซื้อเครื่องจักร ซึ่งขณะนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ผลิตในการเปลี่ยนเครื่องจักรเนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้ผู้ผลิตได้เครื่องจักรคุณภาพดีราคาถูกลง
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ธนาคารจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่สำหรับ SMEs ที่มีมาตรฐานการผลิต และต้องไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญในการปล่อยสินเชื่อปี 2551 โดยธนาคารมีแผนที่จะเข้าไปหารือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมเข้าสู่มาตรฐานสากล เช่น มาตรฐาน GMP, HACCP มาตรฐาน ISO มาตรฐานสมอ. และมาตรฐานอื่นๆ ที่ให้ความปลอดภัยผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการค้าในยุคปัจจุบัน
ข้อมูลเพิ่มกรุณาติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร 02-265-3000 ต่อ 3599, 3601, 3602, 3603