กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--IR PLUS
กลุ่มเจมาร์ท ประกาศผลงาน Q2/61 ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว สะท้อนบริษัทย่อยเดินตามกลยุทธ์ได้ตามที่วางไว้ โดยมีธุรกิจบริหารหนี้ของ JMT ทำผลงานโดดเด่นสุด และมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ ธุรกิจโทรศัพท์มือถือเจมาร์ท โมบาย ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เร่งสปีดเดินเครื่องในช่วงครึ่งปีหลัง รับไฮซีซั่น ส่วนธุรกิจปล่อยสินเชื่อของ J FINTECH เริ่มฟื้นตัวชัดเจน และแผนการรุกตลาดสินเชื่อดิจิตัลของ J VENTURE เริ่มใช้ระบบ DLP เข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจแล้ว ด้าน J รุกธุรกิจเพิ่มมาร์จิ้น ปัจจุบันอยู่ระหว่าง Synergy ร่วมกับบริษัทในเครือ เพื่อขยายช่องทางการเติบโต และ SINGER ยอดขายเติบโตชัดเจน มาร์จิ้นเพิ่มจาก Farmer Model โดย เจมาร์ทมั่นใจในช่วงครึ่งปีหลัง กลุ่มเจมาร์ท จะสามารถเติบโตกว่าครึ่งปีแรกได้
นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) (JMART) เปิดเผยถึง ภาพรวมของผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยประจำไตรมาส 2/2561 พลิกเป็นกำไร สะท้อนให้เห็นธุรกิจของบริษัทได้ผ่านช่วงต่ำที่สุดของกิจการแล้ว โดยงบการเงินรวมมีกำไรสุทธิ 44.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123.8% จากงวดไตรมาส 1/2561 ขาดทุนสุทธิ 187.3 ล้านบาท แต่ลดลงจากไตรมาส 2/2560 อยู่ที่ 103.6 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 69.9 ส่วนงวด 6 เดือน ปี 2561 บริษัทฯ ยังมีผลขาดทุนสุทธิ 142.7 ล้านบาท ลดลงจากงวด 6 เดือน ปี 2560 ร้อยละ 154.2
"ผลงานไตรมาส 2/61 ที่ประกาศออกมา สะท้อนความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาการตั้งสำรองจากการควบคุมการปล่อยสินเชื่ออย่างเคร่งครัด ของ J FINTECH และ SINGER ที่เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่ธุรกิจบริหารหนี้ของ JMT ยังเป็นดาวเด่น มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนภาพรวม JMART ให้พลิกมาเป็นกำไร ส่วนธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นรายได้หลักของเราเติบโตเล็กน้อย ตามภาพรวมอุตสาหกรรม ซึ่งโดยปกติ ช่วงที่เป็นไฮซีซั่นจะอยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง จากการเปิดตัวสินค้าใหม่ และการออกแคมเปญต่างๆ กระตุ้นกำลังซื้อ และการ Synergy ร่วมกันกับบริษัทในกลุ่ม จึงมั่นใจในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตกว่าครึ่งปีแรกได้" นายอดิศักดิ์กล่าว
นายกิติพัฒน์ ชลวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด (J FINTECH) บริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจทางด้านการปล่อยสินเชื่อ ภายใต้แบรนด์ "J MONEY" เปิดเผยถึง ความสำเร็จจากการแก้ปัญหาและวางมาตรการในการคัดกรองลูกค้า ทำให้คุณภาพลูกค้าดีขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทมุ่งหวังที่จะสร้างผลการดำเนินงานให้เติบโตกลับมามีกำไรให้กลับกลุ่มบริษัทให้ได้ โดย ณ ไตรมาส 2/2561 บริษัทมียอดสินเชื่อ 3,960 ล้านบาท สร้างการเติบโตในด้านรายได้ดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และมี NPL อยู่ที่ 6.11% ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างฐานรายได้ที่มั่นคง เจ ฟินเทค ได้เริ่มธุรกิจแฟคตอริ่ง เพื่อที่จะเพิ่มผลตอบแทนให้กับบริษัทเพิ่มเติม
นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) ประกอบธุรกิจพัฒนาซอฟท์แวร์ และลงทุนในบริษัท Started-up ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่จะเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) ให้ธุรกิจของบริษัทในกลุ่ม กล่าวว่า ได้พัฒนาระบบ Digital Lending Platform (DLP) ได้ตามแผนงานที่วางไว้ ก่อนหน้านี้ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ในชื่อ "ป๋า" และ "Fastmoney" เงินหมุนด่วนอนุมัติเร็ว ล่าสุด ประกาศความร่วมมือกับ บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด (มหาชน) (FN) ผู้นำในธุรกิจเอ๊าท์เลท ภายใต้แบรนด์ "FN Outlet" ทดลองการนำเงินสินเชื่อจากระบบ DLP เพื่อใช้ในการจับจ่ายสินค้า อำนวยความสะดวกลูกค้าในการจับจ่ายด้วยระบบสินเชื่อออนไลน์ นับเป็นการเสริมช่องทางการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มบริษัทฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมพบกับความร่วมมืออื่นๆ เพิ่มเติม ในเร็วๆ นี้
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT) ผู้นำในธุรกิจติดตามหนี้ และบริหารหนี้ด้อยคุณภาพอันดับ 1 ของประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2561 รายได้รวมอยู่ที่ 449 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอัตราร้อยละ 18.4 มีต้นทุนการให้บริการอยู่ที่ 155.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอัตราร้อยละ 8 ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ โดยกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทฯ อยู่ที่ 119.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาส 2/2560 ที่ผ่านมาบริษัทมีกำไรพิเศษจากพอร์ตสินเชื่อได้รับซื้อมาจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง และในไตรมาสนี้ บริษัทมีค่าใข้จ่ายครั้งเดียวที่เป็นค่าที่ปรึกษาในการเข้าซื้อกิจการ
ขณะที่ ธุรกิจประกันภัยในบริษัท เจพี ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทย่อยที่ JMT ถือหุ้นร้อยละ 55 ได้เริ่มจัดทำงบการเงินรวมในงบกำไรขาดทุนของบริษัทย่อยดังกล่าวเข้ามาในไตรมาสที่ 2/2561 นี้แล้วและเริ่มมีกำไรในไตรมาส 2/2561 ที่ผ่านมา เตรียมเทิร์นอะราวด์เร็วกว่าคาด มั่นใจ ทั้งปีรายได้และกำไรเติบโตจากปีก่อน 30% ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติการจ่ายปันผลระหว่างกาลเป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท กำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) 27 สิงหาคม 2561 และวันที่จ่ายปันผล 6 กันยายน 2561 นี้
นายสุพจน์ วรรณา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) (J) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ประจำไตรมาส 2/2561 รายได้รวมอยู่ที่ 169.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.5 เป็นผลจากรายได้ค่าเช่า และรายได้ส่งเสริมการขายลดลง ขณะที่ต้นทุนขายและบริการเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการบริการและบริหารเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ขาดทุนสุทธิ 14.6 ล้านบาท ส่งผลให้รายได้รวมงวด 6 เดือนของปี 2561 อยู่ที่ 347.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.8 และมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 14.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม มองว่าธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี แต่ต้องใช้เงินทุนและระยะเวลา มั่นใจว่า จากประสบการณ์ในการบริหารพื้นที่เช่ามากว่า 20 ปี และอยู่ระหว่างเดินตามแผน สร้างรายได้จากธุรกิจขายอสังหาริมทรัพย์ที่ Synergy ร่วมกับบริษัทในกลุ่มเจมาร์ทเพิ่มเติม รวมถึงรายได้จากร้านกาแฟ CASA Lapin และ Rabb Coffee เติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมเปิดสาขาเพิ่มเติมเร็วๆ นี้
นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SINGER) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ กลับมาเทิร์นอะราว ได้โดยในไตรมาส 2/2561 กำไรสุทธิอยู่ที่ 42.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 427.2 เมื่อเทียบกับงวดดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 8 ล้านบาท มีรายได้รวมอยูที่ 759.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เป็นผลจากยอดขายสินค้าหลักและรายได้อื่นๆ ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปลายมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการอนุมัติสินเชื่อโดยผ่านตัวแทนขาย หรือ Farmer Model โดยใช้เทคโนโลยีและระบบออนไลน์เข้าช่วยในการทำงาน ทั้งคัดกรอง ระบุตัวตนของลูกค้า
ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 41.7 จากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 37.7 จากการเพิ่มขึ้นของยอดขายสินค้าหลักที่มีอัตรากำไรสูง โดยสัดส่วนยอดขายของบริษัทฯ ในไตรมาส 2 ปีนี้ แบ่งเป็นยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเชิงพาณิชย์ และโทรศัพท์มือถือ มีสัดส่วน 50% , 30% และ 20% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 มีลูกหนี้เช่าซื้อสุทธิ 2,302.2 ล้านบาท มีจำนวนบัญชีเช่าซื้อ 157,975 บัญชี เทียบกับธันวาคม 2560 มีลูกหนี้เช่าซื้อสุทธิ 2,116.1 ล้านบาท มีจำนวนบัญชีเช่าซื้อลดลงอยู่ที่ 188,181 บัญชี และมีแผนเพิ่มจำนวนร้านสาขาจาก 185 ร้านสาขาในสิ้นปี 2560 มาเป็น 187 ร้านสาขา ในปี 2561 และเพิ่มจำนวนหัวหน้าสาขาย่อยในปีนี้เป็น 1,000 คน จากปัจจุบันมีจำนวน 606 คน เพื่อรุกการขายและการให้บริการไปยังกลุ่มลูกค้าอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้า สนับสนุนการเติบโตของบริษัทฯ ในระยะยาว
ควบคู่กับการดำเนินมาตรการในด้านต่างๆ เพื่อควบคุมสินเชื่อบัญชีเช่าซื้ออย่างเข้มงวด รวมถึงการเร่งขยายการเจรจาประนอมหนี้ กำหนดนโยบายลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ติดตั้งและใช้งานระบบ ERP เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต และมั่นใจภาพรวมซิงเกอร์ฯ ทั้งปีนี้จะสามารถพลิกกลับมาเป็นกำไรได้