กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง ประเมินความสุขชุมชนมวลรวม กรณีศึกษาประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปใน 15 อำเภอของจังหวัดน่าน ทุกสาขาอาชีพจำนวนทั้งสิ้น 1,487 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง เดือนกรกฎาคม ถึง สิงหาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมาพบว่า
ประชาชนในจังหวัดน่านมีความสุขชุมชนมวลรวมด้านต่าง ๆ เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่ามีความสุขชุมชนมวลรวมด้านวัฒนธรรมประเพณีสูงที่สุดคือ 8.30 คะแนน รองลงมาคือ ความสุขต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวอยู่ที่ 8.08 คะแนน ความสุขต่อสุขภาพกายอยู่ที่ 7.81 คะแนน ความสุขในรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น การบำเพ็ญประโยชน์ด้วยจิตอาสา กีฬา การใช้เทคโนโลยีโลกโซเชียล เป็นต้น อยู่ที่ 7.66 คะแนน ความสุขชุมชนต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ที่ 7.65 ความสุขต่อสภาพแวดล้อมที่พักอาศัยอยู่ที่ 7.57 คะแนน ความสุขต่อสุขภาพใจ อยู่ที่ 7.56 คะแนน และความสุขต่อสิ่งที่มี สิ่งที่เป็น สิ่งที่ทำอยู่ที่ 7.56 คะแนน ความสุขต่อความสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่พักอาศัยอยู่ที่ 7.55 คะแนน และความสุขต่อ อาชีพการงาน อยู่ที่ 7.47 คะแนน
ผลการวิเคราะห์ความสุขชุมชนมวลรวม (Gross Community Happiness, GCH) อยู่ในระดับที่มาก คืออยู่ที่ 7.72 คะแนน กล่าวได้ว่า ประชาชนชาวเมืองน่านมีความสุขระดับมาก
ที่น่าสนใจคือ หลังจากจำแนกความสุขชุมชนมวลรวมออกตามลักษณะพื้นที่พักอาศัยของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม มีค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขชุมชนมวลรวมสูงกว่าประชาชนในทุกพื้นที่คือ พื้นที่กึ่งเมือง และพื้นที่ในเมือง ได้แก่ ความสุขชุมชนต่อวัฒนธรรมประเพณีชาวเมืองน่านในพื้นที่เกษตรกรรมสูงถึง 8.69 คะแนน ในพื้นที่กึ่งเมืองได้ 7.86 คะแนน และในพื้นที่เมืองได้ 7.77 คะแนน รองลงมาคือ ความสุขต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวในพื้นที่เกษตรกรรมได้ 8.39 คะแนน ในพื้นที่กึ่งเมืองได้ 8.14 คะแนน และในพื้นที่เมืองได้ 7.60 คะแนน เช่นเดียวกัน ความสุขต่อสุขภาพกาย พบว่า ในพื้นที่เกษตรกรรมได้ 8.08 คะแนน ในพื้นที่กึ่งเมืองได้ 7.50 คะแนน และในพื้นที่เมืองได้ 7.45 คะแนน
นอกจากนี้ ที่น่าพิจารณา คือ ความสุขชุมชนมวลรวมจำแนกตามผู้ที่เข้าร่วมโครงการของ เบโด้ และผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ พบว่า ความสุขชุมชนมวลรวมอยู่ในกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการทุกด้าน เช่น ความสุขต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการอยู่ที่ 7.71 คะแนน ในขณะที่กลุ่มไม่ได้เข้าร่วมโครงการอยู่ที่ 7.40 คะแนน