กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "ถอดบทเรียนภายหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review : ARR) กรณีการค้นหา กู้ภัย และช่วยเหลือผู้สูญหายบริเวณวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน" ในวันที่ 15 – 16 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรม เอส.ดี.อเวนิว กรุงเทพมหานคร เพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้การจัดการวิกฤตภัยทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ซึ่งนำไปสู่การวางแนวทางการจัดการในภาวะฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพภายใต้การบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน รวมถึงยกระดับการจัดการสาธารณภัยของประเทศให้มีระบบตามมาตรฐานสากล
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ภารกิจการค้นหาและช่วยเหลือผู้สูญหายบริเวณวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกของการกู้ภัยในถ้ำที่มีน้ำท่วมสูง รวมถึงมีอุปสรรคด้านภูมิศาสตร์ และสภาพอากาศ แต่ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายผ่านการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และ แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ส่งผลให้การบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉินมีเอกภาพ ภายใต้โครงสร้าง ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์และระบบการสั่งการเดียวกัน โดยยืดหยุ่นตามสถานการณ์และสภาพปัญหาในพื้นที่ ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการบูรณาการสรรพกำลัง รวมทั้งบุคคลากรในทุกสหสาขาวิชาชีพ และการระดมเครื่องมืออุปกรณ์กู้ภัยจากทุกภาคส่วน รวมถึง มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนและครอบคลุมทุกด้าน ทำให้หน่วยปฏิบัติของทุกภาคส่วน รับทราบและเข้าใจแนวทางการปฏิบัติการร่วมกัน จึงส่งผลให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งการถอดบทเรียนภายหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review : AAR) กรณีค้นหา กู้ภัย และช่วยเหลือผู้สูญหายบริเวณถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอนในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ได้ร่วมกันสะท้อนปัญหา อุปสรรค และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การทบทวนแนวทางการจัดการในภาวะฉุกเฉินตามโครงสร้าง ระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในส่วนของแผนเผชิญเหตุ การเชื่อมโยงระบบการอำนวยการ สั่งการ แก้ไขปัญหา รวมถึงการสั่งใช้ทรัพยากรด้านต่างๆ การประสานขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้มีแนวทางการจัดการวิกฤตภัยที่มีประสิทธิภาพภายใต้การบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนรวมถึงก่อให้เกิดภาพความชัดเจนของแนวทางการจัดการสาธารณภัยตามแผน และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นำไปสู่การวางแนวทางการเตรียมพร้อมและปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินที่สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยของแต่ละพื้นที่
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมจัดการสาธารณภัยในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะการแจ้งเตือนภัยสู่ประชาชนอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง และทั่วถึงในทุกช่องทาง การติดตาม วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ภัยในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง การจัดเตรียมสรรพกำลัง อุปกรณ์เครื่องมือด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการทันทีที่เกิดภัย และการบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างความปลอดภัย และให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนภายหลังการปฏิบัติงาน กรณีค้นหา กู้ภัย และช่วยเหลือผู้สูญหายบริเวณถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน ปภ. ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนและเรียนรู้การปฏิบัติงานทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ณ กรุงเทพมหานครและจังหวัดเชียงราย โดยมีผู้แทนจากหน่วยงาน ทั้งหน่วยทหาร ฝ่ายพลเรือน อาสาสมัคร และภาคประชาชน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการร่วมวางแผนการปฏิบัติงานเข้าร่วมการเสวนา รวมถึงแบ่งกลุ่มย่อยตามภารกิจด้านต่างๆ ครอบคลุมทั้งการค้นหาและกู้ภัย การสนับสนุนปฏิบัติการในด้านต่างๆ อาทิ การค้นหาภายนอกถ้ำ การปฏิบัติการทางอากาศ การพร่องน้ำ การจัดระเบียบพื้นที่ปฏิบัติงาน การปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งนี้ ปภ. จะได้นำคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาวิเคราะห์ปัจจัยแห่งความสำเร็จและอุปสรรคในการปฏิบัติงาน เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการสาธารณภัยที่สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยและข้อจำกัดในแต่ละพื้นที่ รวมถึงนำองค์ความรู้จากเหตุการณ์ดังกล่าวมาใช้ในการสร้างองค์ความตระหนักรู้ และปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในสังคมไทยต่อไป