องค์กรด้านสุขภาพชั้นนำของโลกห่วงเด็กเอเชีย ผนึกกำลังกุมารแพทย์ ตั้ง ASAP ปกป้องเด็กเอเชียปลอดโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส

ข่าวทั่วไป Thursday December 20, 2007 10:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--คอมมูนิเคชั่นแอนด์มอร์
องค์กรด้านสุขภาพชั้นนำของโลกห่วงเด็กเอเชีย ผนึกกำลังกุมารแพทย์ ตั้ง ASAP ปกป้องเด็กเอเชียปลอดโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส ไทยขานรับนโยบาย WHO จับมือนานาประเทศร่วมสร้างเกราะป้องกัน
องค์กรด้านสุขภาพชั้นนำของโลกห่วงเด็กเอเชีย ผนึกกำลังแพทย์โรคติดเชื้อในเด็กกว่า 200 คนในเอเชียแปซิฟิค เฝ้าระวังโรคปอดบวมและโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็ก สาเหตุการตายอันดับ 1 ของเด็กทั่วโลก โดยทุกๆ ชั่วโมงมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลกเสียชีวิต 80 — 112 คน หรือ ทุกๆ วัน จะมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลกเสียชีวิตสูงถึง 1,900 — 2,700 คน ไทยขานรับนโยบาย WHO จับมือนานาประเทศร่วมตั้ง ASAP สร้างเกราะป้องกันในเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอย่างเป็นรูปธรรม
ทุกๆ ชั่วโมงมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลกเสียชีวิต 80 — 112 คน หรือ ทุก ๆ วัน จะมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลกเสียชีวิตสูงถึง 1,900 — 2,700 คน ซึ่งสาเหตุมาจากโรคปอดบวมชนิดรุนแรงจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส โดยส่วนมากจะพบมากในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทยก็พบมากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าหนาว จะเป็นฤดูที่เด็กมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส
ด้วยสถิติที่น่ากลัวข้างต้น International Vaccination Institute (IVI) ซึ่งเป็นสถาบันทางการแพทย์นานาชาติจึงได้จัดการประชุม “The First Symposium on Pneumococcal Vaccination in the Asia Pacific Region” ขึ้น เป็นครั้งแรกที่มีการชุมนุมของกุมารแพทย์กว่า 200 คนจาก 20 ประเทศทั่วเอเชีย-แปซิฟิก อาทิ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวัน และไทย เป็นต้น เพื่อระดมสมองและสร้างเครือข่ายแนวร่วมในการเฝ้าระวังและป้องกัน ระหว่างวันที่ 12-15 ธันวาคม 2550 ณ กรุงโซล เกาหลีใต้
ในงานประชุมดังกล่าวได้มีการเปิดตัว “องค์กรพันธมิตรร่วมป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส และโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส” (Asian Strategic Alliance for Pneumococcal Disease Prevention — ASAP) ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกและหน่วยงานเดียวที่เกิดจากการรวมตัวของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรชั้นนำด้านสุขภาพของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเร่งหามาตรการและแนวทางลดจำนวนเด็กเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมจากติดเชื้อนิวโมคอคคัส รวมถึงโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสอื่นๆ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกของ ASAP โดยมีศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และ ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นกรรมการบริหารองค์กรดังกล่าว
ศ.พญ.ลูลู บราโว ประธาน ASAP เปิดเผยว่า ไม่มีอะไรที่สำคัญไปกว่าการรักษาชีวิตของเด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของพวกเรา แนวทางการดำเนินงานของ ASAP คือเร่งให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรเร็วที่สุด แต่ ณ วันนี้ยังเป็นเพียงแค่การเริ่มต้น เรายังต้องการความร่วมมืออย่างจริงจังจากองค์กรด้านสุขภาพ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำความคิด ตลอดจนพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อผนึกกำลังร่วมต้านโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ให้พ้นจากเด็กๆ ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิคของเรา
“ในฐานะที่เป็นแพทย์และเป็นแม่ ทำให้รู้ว่าโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงกับเด็กๆ แต่ผู้ปกครองบางคนอาจจะยังไม่เข้าใจถึงความน่ากลัว จนกว่าจะเกิดกับลูกหลานของตัวเอง ดังนั้นเราจึงอยากจะเตือนถึงสถานการณ์อันเลวร้ายที่กำลังเกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ซึ่งความรุนแรงดังกล่าวสามารถป้องกันได้ถ้าเด็กๆ ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง สิ่งที่เราต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ ลดการระบาดของโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่ง ASAP เร่งดำเนินการ โดยเริ่มด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพื่อเพิ่มความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรค หลังจากนั้นจึงกำหนดแนวทางการป้องกัน และผลักดันให้มาตรการนั้นเป็นรูปธรรม” ศ.พญ.ลูลู บราโว กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันโรคปอดบวมในเด็กเล็กที่เกิดจาการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส มีวัคซีนป้องกันได้แล้ว คือ วัคซีนไอพีดีตัวใหม่ชนิดที่ให้ในเด็กเล็ก ซึ่งปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนไอพีดีนี้ให้เด็กๆ ใน 76 ประเทศทั่วโลก (ตั้งแต่มกราคม 2550) และใน 17 ประเทศได้ระบุให้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสอยู่ในแผนสาธารณสุขแห่งชาติ โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีเพียง ออสเตเรียและนิวซีแลนด์เท่านั้นที่บรรจุวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสไว้ในแผนสาธารณสุขแห่งชาติ
ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศเกาหลีใต้มีเด็กที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสมากเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็นร้อยละ 78 รองลงมาคือประเทศฮ่องกงคิดเป็นร้อยละ 41 ตามมาด้วยสิงคโปร์ ร้อยละ 36 ไต้หวัน ร้อยละ 24 สำหรับประเทศอื่นๆ มีอัตราของเด็กที่ได้รับวัคซีนน้อยมาก เพียงร้อยละ 0-3 เท่านั้น
ASAP ได้เข้าร่วมกับ the Global Pneumococcal Awareness Council of Experts (PACE) และ สมาคมกุมารแพทย์โรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย (the Asian Society of Pediatric Infectious Disease: ASPID) ซึ่งเกิดขึ้นจากองค์กรด้านสุขภาพของภาครัฐ และกุมารแพทย์ เพื่อต้องการบรรลุวัตถุประสงค์ที่จะจำกัดวง และควบคุมโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยการสร้างการรับรู้ และกระตุ้นให้เกิดการเฝ้าระวัง การสนับสนุน ตลอดจนการป้องกันอย่างถูกวิธี โดยปัจจุบัน ASAP มีสมาชิกจาก 13 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเก๊า มาเลเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา ไต้หวัน และไทย
ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โรคปอดบวมในเด็กไทยเป็นโรคที่พบได้บ่อย เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีของเด็กไทย โดยปกติเชื้อนี้จะมีอยู่ในโพรงจมูก ลำคอ บริเวณหอคอย ของคนเรา สำหรับในเด็กเล็ก เชื้อที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดโรคได้เมื่อร่างกายอ่อนแอลง และในกรณีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ที่ร่างกายยังมีภูมิต้านทานที่ไม่สมบูรณ์ เชื้อเหล่านี้อาจรุกล้ำเข้าสู่ร่างกายและเกิดการติดเชื้อที่สำคัญ เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
ศ.พญ.อุษา กล่าวเพิ่มเติมว่า วัตถุประสงค์ของการร่วมจัดตั้ง ASAP ในครั้งนี้คือ เพื่อดำเนินการให้การป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กมีผลเป็นรูปธรรม หลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศจุดยืนเมื่อเดือนเมษายน 2550 ในการให้ความสำคัญต่อการป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในเด็กในโลกถึง 1 ล้านคนต่อปี โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา WHO ยังสรุปว่าการป้องกันที่ดีที่สุดคือการให้วัคซีนนิวโมคอคคัส (ไอพีดี) ในเด็กเล็ก โดยให้พิจารณาบรรจุวัคซีนดังกล่าวให้เป็นวัคซีนพื้นฐานแก่เด็กเล็กโดยทั่วไป
“ผลที่คาดว่าจะได้รับการป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสมีผลเป็นรูปธรรม แม้ว่าในเบื้องต้นอาจจะยังไม่สามารถบรรจุวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวเป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กโดยทั่วไป แต่น่าจะมีการพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสแก่เด็กเล็ก หรืออย่างน้อยที่สุด คือพิจารณาการให้วัคซีนดังกล่าวแก่เด็กกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อนิวโมคอคคัส” ศ.พญ.อุษา กล่าวและเสริมว่า
อย่างไรก็ตาม หลักการที่จะนำวัคซีนตัวใดบรรจุไว้เป็นวัคซีนแห่งชาตินั้น ทางรัฐบาลจะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่า ซึ่งตามคำแนะนำของ WHO ระบุว่า หากประเทศใดมีอัตราการเสียชีวิต 50 ต่อ 1000 คน ก็สมควรบรรจุ แต่ในบ้านเรา ปัญหาก็คือ ที่ผ่านมายังไม่มีการเก็บข้อมูลของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส อย่างจริงจัง ดังนั้น ในเบื้องต้นนี้ประเทศไทยเราควรจะต้องมีการศึกษาและเก็บข้อมูลของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสอย่างถูกต้อง เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการเฝ้าระวังและป้องกันต่อไป โดยภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกัน” ศ.พญ.อุษา กล่าว
สำหรับแนวทางการดำเนินงานขององค์กร ASAP ในประเทศไทย ได้ดำเนินการผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้เกิดความตระหนักเกี่ยวกับโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสทั้งแก่ประชาชนทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งได้ดำเนินการผ่านการประชุมวิชาการทางการแพทย์ต่างๆเพื่อให้เกิดความตระหนักในความสำคัญของการป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส นอกจากนั้นยังได้มีการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนในการร่วมมือของสมาคมวิชาชีพต่างๆในอันที่จะทำให้การป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสมีผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา ได้มีการร่วมลงนามผนึกกำลัง “ความร่วมมือการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสรุนแรง (ไอพีดี) ในเด็กไทยและทั่วโลก” ระหว่าง 3 องค์กร ได้แก่สมาคมกุมารแพทย์โรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
ด้าน พันเอก พญ.ฤดีวิไล สามโกเศศ เลขาธิการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงอันตรายของโรคปอดบวมว่า โรคปอดบวมในเด็กเล็กอาจมีอันตราย เพราะอาจทำให้เกิดอาการรุนแรง เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม เชื้อนี้มีอัตราการดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาสูง การรักษาจึงยากขึ้น ดังนั้น พ่อ-แม่ที่มีลูกน้อยควรดูแลสุขภาพเด็กให้ดี ในช่วงอากาศหนาวเย็นเด็กเล็กจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและภาวะปอดบวมสูง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือเด็กสุขภาพดีที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่า คือ เด็กที่พ่อแม่ต้องพาไปอยู่เนอสเซอร์รี่หรือสถานเลี้ยงเด็กกลางวัน หากเด็กไม่สบายเป็นไข้นานเกิน 3-4 วัน ควรรีบพบแพทย์ทันที อาการคือ มีไข้ขึ้นสูง มี อาการไอ มีเสมหะมาก หายใจหอบ เด็กมักไม่ยอมดื่มนมหรือกินอาหาร และอาจมีภาวะชักร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม โรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กเล็ก สามารถป้องกันได้หลายวิธีร่วมกัน ได้แก่ ให้เด็กดื่มนมแม่เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน สอนให้เด็กมีสุขอนามัยที่ดี ล้างมือให้สะอาด ปิดปากปิดจมูกเวลาไอหรือจาม หลีกเลี่ยงพาเด็กเล็กไปในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดโรค ทั้งสถานที่มลภาวะเป็นพิษ และสถานที่แออัดมีผู้คนพลุกพล่าน เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น แต่วิธีป้องกันที่ได้ผลวิธีหนึ่งคือการฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่เด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 2 ขวบ
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
บุษบา / พิธิมา
บริษัท คอมมูนิเคชั่นแอนด์มอร์ จำกัด
โทร. 0-2718-3800 ต่อ 133 / 138

แท็ก เอเชีย   WHO  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ