กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช.
ปัญหาคอร์รัปชันถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆทั่วโลก ที่ยังทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น และนำไปสู่ความยากจน และเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการพัฒนาอย่างแท้จริง สำหรับประเทศไทยเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นปัญหาสำคัญลำดับต้นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก และเกิดขึ้นมานานจนฝังรากลึกและพบเกือบทุกกลุ่มอาชีพในสังคมไทย เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนในสังคมไทยจนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยไปแล้ว
จะเห็นได้จากผลการสำรวจของดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index : CPI) โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International) เมื่อปี 2560 ประเทศไทยได้คะแนน 37 จาก 100 คะแนน ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 96 จาก 180 ประเทศ
ประกอบกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (CSI) สำรวจเมื่อเดือนธันวาคม 2560 พบว่า ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน สูงขึ้น 37% โดยสาเหตุสำคัญมาจากกฎหมาย เปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลยพินิจที่เอื้อต่อการทุจริตถึง 18.8% รองลงมาเป็นเรื่องของกระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ยาก 15.6% และความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบ 14.7%
ขณะที่รูปแบบการทุจริตที่พบบ่อย คือ การให้สินบน ของกำนัลหรือรางวัลต่างๆ 19.6% การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวก 16.2% และการทุจริตเชิงนโยบาย โดยดำรงตำแหน่งทางการเมือง 13.8% และส่วนใหญ่เห็นว่าเรื่องคอร์รัปชันเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก และคนไทยไม่สามารถทนได้กับการทุจริตมีมากขึ้น(คะแนน 2.03 คะแนนยิ่งน้อย = ยิ่งไม่ทน)
ส่วนประสิทธิภาพของหน่วยงานตรวจสอบพบว่ามีประสิทธิภาพดีขึ้น และความเชื่อมั่นในหน่วยงานต่างๆ เช่น สมาคมธุรกิจ ผู้ประกอบการ ประชาชน สื่อมวลชน หน่วยงานรัฐ ในการต่อต้านการทุจริตนั้นอยู่ในระดับเกิน 50% ถือว่าดีขึ้นสะท้อนว่าส่วนใหญ่พร้อมให้ความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานี้ด้วยการเสริมสร้างจิตสำนัก จริยธรรม และค่านิยม ความซื่อสัตย์ การบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด มีมาตรการลงโทษอย่างเด็ดขาด และปรับปรุงกฎระเบียบในการประมูลงาน การจัดซื้อจัดจ้าง สัมปทาน เป็นต้น
น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีที่สังคมเริ่มตื่นตัว เริ่มไม่ทนต่อการทุจริต ไม่ยอม ไม่เพิกเฉยมากขึ้น จะเห็นได้จากคดีทุจริตต่าง ๆ ที่สะสมมานาน เริ่มถูกเปิดโปงมากขึ้นจนเป็นข่าวทางสื่อมวลชนและสร้างกระแสสังคม ที่สั่นสะเทือนอยู่ในขณะนี้ เช่น กรณีน้องแบม น.ส.ปณิดา ยศปัญญา นิสิตจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร้องเรียนการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และผู้ป่วยโรคเอดส์ ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระหว่างไปฝึกงานที่ศูนย์ดังกล่าว กรณีการทุจริตอาหารกลางวันเด็ก และการทุจริตเงินเด็กจากกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตของกระทรวงศึกษาธิการ กรณีการทุจริตเงินทอนวัด ที่เรียกว่า เงินอุดหนุนให้กับวัดทอนกลับมาเป็น "เงินทอน" 75% ส่วนวัดรับแค่ 25% ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรณีการติดสินบนในคดีล่าเสือดำ คดีเหล่านี้นอกจากจะมีผลกระทบ อันรุนแรงทางด้านสังคมและด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังสามารถนำมาเป็นบทเรียนให้ประชาชนได้มีความตระหนักรู้ถึงผลของการทุจริตคอร์รัปชันได้อีกด้วย
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น สอดคล้องกับแนวทางของสำนักงาน ป.ป.ช. ในการบูรณาการทุกภาคส่วนมุ่งมั่นขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) สู่ "ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต (Zero Tolerance&Clean Thailand)" จากความมุ่งมั่นแน่วแน่ในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ในระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติฯ
ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. จึงกำหนดจัดงานสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติ ภายใต้หัวข้อ "การผลักดันยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สู่ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต" วันที่ 23 สิงหาคม 2561 เวลา 09.00 -16.00 น. ณ ห้องวายุภักษ์ แกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
สำหรับรายละเอียดในการจัดกิจกรรม ช่วงเช้า โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "การผสานพลังสร้างประเทศไทยใสสะอาด" หลังจากนั้นเป็นการบรรยายพิเศษ หัวข้อ "การผลักดันยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สู่ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต" โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ในช่วงบ่าย เป็นกิจกรรมแบ่งกลุ่มนำเสนอผลงานโครงการ/กิจกรรม ตามประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) ยุทธศาสตร์ที่ 1 - 6 จำนวน 6 ห้อง ดังนี้
ห้องที่ 1 ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต เป็นการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวข้อ "จิตพอเพียงต้านทุจริตและผลประโยชน์ทับซ้อน"
ห้องที่ 2 ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต เป็นการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวข้อ "บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริตของประชาชน"
ห้องที่ 3 ยุทธศาสตร์ที่ 3 สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย เป็นการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวข้อ "หนทางสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย"
ห้องที่ 4 ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก เป็นการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวข้อ "นวัตกรรมการป้องกันการทุจริต "
ห้องที่ 5 ยุทธศาสตร์ที่ 5 ปฏิรูปกลไกและกระบวนการปราบปรามการทุจริต เป็นการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวข้อ "การปฏิรูปกลไกและกระบวนการปราบปรามการทุจริต"
ห้องที่ 6 ยุทธศาสตร์ที่ 6 ยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย เป็นการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวข้อ "Citizen Feedback : จากโครงการต้นแบบ ขยายผลสร้างความโปร่งใส ลดเงื่อนไขการทุจริตคอร์รัปชัน"
ซึ่งสามารถรับชมการถ่ายทอดสดการจัดกิจกรรมจากส่วนกลางผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) และสถานีโทรทัศน์ TNN 2 ในช่วงเวลา 09.00 – 10.300 น. และรับชมการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีวิทยุชุมชนเครือข่ายสมาคมสื่อช่อสะอาด 421 สถานีทั่วประเทศ ในช่วงเวลา 09.00 – 12.00 น.
สำนักงาน ป.ป.ช. มุ่งหวังว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมทั้งกระบวนการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรคในการดำเนินการผลักดันยุทธศาสตร์ชาติ โดยผ่านมุมมองที่หลากหลายจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) นำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต อันจะส่งผลให้ค่าดัชนีการรับรู้ การทุจริต (CPI) ของประเทศไทยสูงกว่าร้อยละ 50