กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานในพิธีเปิด "โรงคัดบรรจุสับปะรด" ภายใต้โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลิตภาพและมูลค่าพืชไร่ชุมชน ณ ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผลงานการบูรณการความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มุ่งนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) แก้ไขปัญหา "สับปะรด" ตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง.... ใช้เทคโนโลยีชีวภาพปรับปรุงสายพันธุ์ จัดสร้างโรงคัดบรรจุมาตรฐาน/เทคโนโลยีทำความสะอาดผลสับปะรดสด วิจัย/ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวแก้ปัญหาอาการไส้ดำในสับปะรด ถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจากสับปะรดพร้อมดื่ม พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ระบุเป็นตัวอย่างความสำเร็จของใช้ วทน. แก้ปัญหาผลิตผลทางการเกษตรเพื่อการส่งออก ยกระดับคุณภาพเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการะทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า จากการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย วว. ลงพื้นที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อนำ วทน. เพื่อช่วยแก้ปัญหาสับปะรด ซึ่งเป็นพืชไร่เศรษฐกิจที่สำคัญของของจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพผลผลิตเพื่อส่งออก ได้ดำเนินงานอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ผลผลิตที่ได้จากการดำเนินงานโครงการฯ ในรูปแบบเป็นงานวิจัยหรือเทคโนโลยี ก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงแก่กลุ่มเป้าหมายและผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่ เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดผลสด ผู้ประกอบกิจการส่งออกผลไม้สด วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องจากสับปะรด ในพื้นที่จังหวัด ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นความตั้งใจของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่มุ่งเน้นพัฒนาภาคการเกษตร ให้สามารถนำ วทน. ไปใช้ในการพัฒนาด้านการเกษตร เสริมแกร่งให้เพื่อแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกร ยกระดับคุณภาพผลผลิตสามารถแข่งขันได้ในตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า วว. มีความเชี่ยวชาญอย่างครบวงจรในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านเกษตร เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว เทคโนโลยีเครื่องจักร การแปรรูปอาหาร รวมถึงบรรจุภัณฑ์ จากการศึกษาพบว่า ปัญหาที่สำคัญของการส่งออกสับปะรด คือ อายุการเก็บรักษาหรือเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวที่ยังไม่สามารถยืดอายุการเก็บรักษาผลสับปะรดให้ได้ยาวนานเพียงพอ ทำให้เกิดอาการไส้ดำขึ้นในผลสัปปะรด อีกทั้งขั้นตอนการส่งออกสับปะรดผลสด จำเป็นต้องทำในโรงคัดบรรจุ (packing house) ที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ได้ผลสับปะรดสดที่ได้คุณภาพดีตรงต่อความต้องการของตลาด นอกจากกระบวนการคัดบรรจุสับปะรดผลสดที่ต้องการโรงคัดบรรจุและเครื่องมืออุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน
ด้วยตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว วว. จึงดำเนินการโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตภาพและมูลค่าพืชไร่ชุมชน (สับปะรด จ.ประจวบคีรีขันธ์) มีระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี (ตั้งแต่ปี 2559-2562) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสร้างโรงคัดบรรจุมาตรฐานและชุดเทคโนโลยีทำความสะอาดสับปะรดผลสด เพื่อการจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวสับปะรดผลสดให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในเขตพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อแก้ไขปัญหาอาการไส้ดำในสับปะรดผลสด ถ่ายทอดเทคโนโลยี และให้คำแนะนำปรึกษาด้านการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมสำหรับสับปะรดผลสด ที่สอดคล้องกับการใช้เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและระบบการบรรจุที่ใช้แก่ผู้ประกอบการ เกษตรกรและผู้ส่งออกเป้าหมาย รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจากสับปะรดให้กับกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย
"ขณะนี้โครงการฯ ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 การดำเนินงานคืบหน้าไปด้วยดี อาทิ การวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวสับปะรดผลสด ตลอดจนขั้นตอนการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและการคัดบรรจุผลสับปะรดผลสดเพื่อการส่งออก ผลของอุณหภูมิต่ำในการเก็บรักษาที่มีผลต่อลักษณะอาการไส้ดำของผลสับปะรดสดสายพันธุ์ต่างๆ การลดปัญหาการเกิดอาการไส้ดำด้วยสารเคลือบผิว ผลไม้?และการเก็บรักษาโดยการควบคุมสภาพบรรยากาศ การใช้เทคโนโลยีชีวภาพโดยการใช้พันธุวิศวกรรมเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อแก้ไขปัญหาไส้ดำในผลสับปะรด การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสับปะรดเพื่อการขยายพันธุ์และเพื่อการส่งถ่ายพันธุกรรม และล่าสุดได้ทำการศึกษาความทนทานของสับปะรดสายพันธุ์ใหม่ที่มีต่ออาการไส้ดำและการจัดทำลายพิมพ์ดีเอ็นเอสายพันธุ์ สับปะรดในประเทศไทยเพื่อการขึ้นทะเบียนพันธุ์..." รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าว
นายสัมพันธ์ ศรีสุริยวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญวิจัย วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า วว. ได้จัดสร้างโรงคัดบรรจุมาตรฐานและชุดเทคโนโลยีทำความสะอาดสับปะรดผลสด เพื่อการจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีขนาดกำลังการผลิต 3 ตันต่อชั่วโมง ภายในโรงคัดบรรจุประกอบด้วย เครื่องคัดขนาด เครื่องตัดแต่งคัดผลดีผลเสีย อุโมงค์ลมทำความสะอาด เครื่องเคลือบแวกซ์ สายพานลำเลียงการบรรจุ เครื่องรัดกล่อง เครื่องลดอุณหภูมิและห้องเย็น และห้องแปรรูป ที่เป็นไปตามมาตรฐาน GMP ทั้งนี้โรงคัดบรรจุผลสับปะรดมาตรฐาน จ.ประจวบคีรีขันธ์แห่งนี้ ถือเป็นโรคคัดบรรจุผลสดทันสมัยแห่งแรกของประเทศไทยที่มีเครื่องจักรและกรบวนการผลิตมาตรฐานครบวงจร สามารถใช้งานจริงในพื้นที่และเป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อการศึกษาให้แก่ผู้ผลิตผู้ประกอบการสับปะรดจากพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้โรงคัดบรรจุแห่งนี้ยังสามารถประยุกต์ต่อยอดการใช้ประโยชน์กับการผลิตผลไม้ชนิดอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้อีกด้วย
ส่วนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ขนส่งเพื่อการจัดจำหน่ายในประเทศและส่งออก ขนาดบรรจุ 6-7 ผลต่อกล่องเพื่อลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์จากเดิม และอยู่ระหว่างการพัฒนาวัสดุกันกระแทกในบรรจุภัณฑ์ขนส่งพร้อมทั้งเป็นบรรจุภัณฑ์ขายปลีกเพื่อการจัดจำหน่าย ขนาดบรรจุ 1 ผล เพื่อคุ้มครองผลิตผลให้ปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ วว. ยังได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจากสับปะรด โดยได้นำสับปะรดจากกลุ่มเกษตรกรเป็นวัตถุดิบ โดยดำเนินการเก็บตัวอย่างสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย 3 แบบ คือ สับปะรดก่อนส่งออก ส่งออก และหลังส่งออก มาแปรรูปเป็นสับปะรดกวน ได้สับปะรดกวนที่แตกต่างกัน 3 แบบ และนำไปทดสอบการยอมรับของผู้บริโภค วิเคราะห์ผลทางสถิติ ได้สูตรที่คะแนนการยอมรับมากที่สุด เพื่อนำไปถ่ายทอดสูตรและกระบวนการผลิตให้กับกลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย