กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โชว์ศักยภาพในนามประเทศไทย โดยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้ประกอบการพลาสติกอาเซียน ครั้งที่ 17 (The 17th Term ASEAN Federation of Plastic Industries Conference 2016 – 2018) และการประชุมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 28 (The 28th ASIA Plastics Forum : APF 2018) ภายใต้แนวคิด "Creating Sustainable Value through Circular Economy" ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 21 กันยายน 2561 ณ โรงแรม พูลแมน กรุงเทพ สุขุมวิท (อโศก) หวังกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านอุตสาหกรรมพลาสติกในภูมิภาคอาเซียนมากยิ่งขึ้น และผลักดันให้เกิดระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมพลาสติกอย่างยั่งยืนผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ The ASEAN Federation of Plastic Industries (AFPI) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 7 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย เมียนมา มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและศักยภาพอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งได้จัดการประชุมคณะกรรมการ AFPI Council Meeting เป็นประจำทุกปี โดยหมุนเวียนให้ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศได้เป็นเจ้าภาพการประชุม และกำหนดจัดประชุมใหญ่สมาชิก (AFPI Conference) ประจำทุก 2 ปี นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ ASIA Plastics Forum (APF) ซึ่งกำหนดจัดการประชุมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกในระดับภูมิภาคเอเชียเป็นประจำทุกปี เพื่อนำเสนอสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศสมาชิก และหารือแนวทางความร่วมมือนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกันในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาคซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการค้าและการส่งออกของอุตสาหกรรมพลาสติกไทยให้มากขึ้น
นายภราดร จุลชาต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานประชุม The 17th Term AFPI & The 28th APF 2018 ครั้งนี้ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ตระหนักและตื่นตัวในการรับมือกับการค้าและการลงทุนภายหลังจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการจัดการกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมพลาสติกอย่างยั่งยืน ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมงานเป็นทั้งผู้ผลิตเม็ดพลาสติกและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งในประเทศ
และประเทศสมาชิกทั้ง 12 ประเทศ โดยภายในงานประชุมดังกล่าว นอกจากผู้เข้าร่วมงานจะได้รับทราบข้อมูลเชิงลึกล่าสุดของอุตสาหกรรมพลาสติกทั้งไทยและอาเซียนแล้ว คณะกรรมการจัดงานยังได้จัดให้มีการประกวดผลิตภัณฑ์พลาสติกอาเซียน 3rd ASEAN Plastics Award 2018 ภายใต้แนวคิด "Going Towards Sustainable Value" เพื่อยกระดับการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกให้มีมาตรฐานและนำไปสู่การสร้างมูลค่าอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ทั้งนี้ การประกวดผลิตภัณฑ์ฯ ดังกล่าวได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการธุรกิจพลาสติก นักศึกษา และบุคคลทั่วไปเป็นอย่างดีที่ได้ส่งผลงานเข้าร่วมเสมอมา โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 21 กันยายน 2561 ณ โรงแรมพูลแมน กรุงเทพ สุขุมวิท (อโศก)
พร้อมกันนี้ นายภราดร ยังได้กล่าวถึงงานแสดงสินค้าเพื่ออุตสาหกรรมพลาสติกแห่งภูมิภาคอาเซียน A-PLAS 2018, ASEAN Community Plastic Exhibition ซึ่งเป็นงานแสดงนวัตกรรมเครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์ เพื่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกแบบครบวงจร ภายใต้แนวคิด A-PLAS 2018, CONNECTING ASEAN PLASTIC INDUSTRIES : การเชื่อมต่ออุตสาหกรรมพลาสติกในอาเซียน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกในภูมิภาคอาเซียน เป็นเวทีทางธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกไทย และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศได้แสดงผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม และวิทยาการล่าสุด โดยจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19 - 22 กันยายน 2561 ณ อาคาร 103 - 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
นายภราดร กล่าวทิ้งท้ายว่า "สถานการณ์การนำเข้า-ส่งออกเม็ดพลาสติก ณ เดือนมิถุนายน 2561 มีมูลค่าการนำเข้า 12,377.7 ล้านบาท ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2561 3.4% และลดลง 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากระดับราคาของ PVC ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการลดลงของอุปทานของ Acetylene ที่เป็นส่วนผสมหลักของ PVC ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในส่วนของการส่งออกมีมูลค่า 28,656.1 ล้านบาท ลดลง 5.6% จากเดือนที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 18.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งส่วนใหญ่เป็นเม็ดพลาสติกในกลุ่ม PS, PP, POM โดยคาดว่าเป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนตัวลงตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ผนวกกับทิศทางการปรับตัวของราคาเม็ดพลาสติกที่สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา
สำหรับสถานการณ์การค้าผลิตภัณฑ์พลาสติก ณ เดือนมิถุนายน 2561 มีมูลค่าการนำเข้า 12,677.7 ล้านบาท ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2561 1.7% และลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในส่วนของการส่งออก มีมูลค่า 11,839.1 ล้านบาท ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2561 2.1% และเพิ่มขึ้น 5.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำให้ในเดือนมิถุนายน 2561 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่าผลิตภัณฑ์พลาสติกรวมกว่า 838.6 ล้านบาท โดยสินค้าที่มีมูลค่าทางการค้าสูงสุดยังคงเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทชิ้นส่วนประกอบสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ตลาดหลักในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือยังคงขยายตัวดี เนื่องจากปัจจัยความต้องการของตลาดปลายทางที่ขยายตัว และภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัว นายภราดร กล่าว