กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--เจพี วัน คอนซัลแทนท์
ในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารได้เดินหน้าพัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เกิดการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งการขยายตัวดังกล่าวนี้ส่งผลโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมด้านการผลิตสื่ออย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตสื่อที่ต้องสร้างจุดเด่นของเนื้อหาเพื่อให้ประชาชนสนใจตลอดจนความรวดเร็วในการนำเสนอข่าว ซึ่งในบางครั้งอาจขาดการกลั่นกรอง และไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อเท็จจริงที่นำเสนอ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนแต่ก่อให้เกิดกับประชาชนที่เปิดรับสื่อเกิดความเข้าใจผิด สามารถถูกครอบงำจากสื่อยุคดิจิตอลได้ง่าย หากขาดความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ
ล่าสุด กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้สังคมและประชาชนทั่วไปรู้เท่าทันสื่อ เกิดการตีความและวิเคราะห์สื่ออย่างมีสติ และผลักดันให้ภาคการผลิตสื่อมีแนวคิดในการผลิตเนื้อหาที่มีประโยชน์ คิดถึงประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนที่ปัจจุบันสามารถเป็นได้ทั้ง "ผู้รับสื่อ" และ "ผู้ส่งสื่อ" โดยในปี 2561 กทปส. ได้มอบทุนสนับสนุนเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาโครงการด้านการรู้เท่าทันสื่อให้แก่ 7 หน่วยงาน เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนในการรู้เท่าทันสื่อและสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่สื่อนำเสนอว่ามีความถูกต้องเหมาะสมหรือไม่อย่างไรทั้งในกลุ่มระดับอายุทั่วไป กลุ่มเยาวชน ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส โดยทั้ง 7 โครงการที่ กทปส. ให้การสนับสนุนนั้นมีรายละเอียดการดำเนินงานดังนี้
โครงการเพิ่มทักษะรู้เท่าทันสื่อและสนับสนุนบทบาทเยาวชน (รักสันติ) เพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (Peaceful of Southern Boundary Organization : POSBO) โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะการรู้เท่าทันสื่อและสนับสนุนบทบาทเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้รักสันติ มุ่งเน้นการสร้างเยาวชนให้มีอุดมการณ์รักสันติและปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ สามารถยอมรับการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมได้ เพื่อลดกระแสชาติมลายูสุดโต่งและการแบ่งแยกในพื้นที่ให้ลดน้อยลง
ทางด้านมูลนิธิอโณทัย นำเสนอโครงการส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและสูงอายุ ชาติพันธ์ โดยการจัดโครงการอบรบและพัฒนาการเรียนรู้และการผลิตสื่ออย่างมีคุณภาพ เน้นเฉพาะกับกลุ่มที่เรียกว่ากลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กและเยาวชนจาก 17 ชุมชน ใน จังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเลย เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อ สามารถคิดวิเคราะห์แยกแยะข่าวหรือข้อมูลที่ไม่ดีไม่เหมาะสม นอกจากนี้ยังต้องการให้เด็กและเยาวชนมีความสามารถในผลิตสื่อที่สร้างสรรค์เล็กน้อย เพื่อใช้เผยแพร่ผ่านวิทยุชุมชน หรือ Line/Facebook เป็นต้น โดยจะมีการจัดประกวดการทำสื่อสร้างสรรค์ในทุกชุมชนและคัดเลือกเพียง 1 ชิ้น เพื่อเผยแพร่
โครงการหุ่นสายไทยใส่ใจผู้บริโภค โดยมูลนิธิสมาพันธ์ศิลปินเพื่อสังคม ผ่านการจัดกิจกรรม Road show ตามโรงเรียนต่างๆ 20 โรงเรียน ทั้งในเขตเมืองและเขตชนบททั่วประเทศภายใต้แนวคิด "วัยมันส์พันธุ์ Online Thailand 4.0" โดยเนื้อหาจะมุ่งเน้นการเสพสื่อและเพิ่มภูมิคุ้มกันรวมถึงภัย online ต่างๆ ต่อเด็กๆและเยาวชน รวมถึงการส่งเสริมเด็กและเยาวชนสามารถคิดและต่อยอดการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น สมาร์ทโฟนและสื่อ online ให้เกิดประโยชน์
ในส่วนของสำนักส่งเสริมและบริการวิชาการ พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำเสนอ โครงการพัฒนาชุดการเรียนรู้เท่าทันสื่อ Media Literacy Kit และกิจกรรมฝึกอบรมครูสำหรับเด็กปฐมวัยและเด็กเล็ก โดยการเดินสายจัดกิจกรรมให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ สิทธิ และข้อกฎหมาย ตามสถานที่ต่างๆ 100 แห่งทั่วประเทศผ่านกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่มหลักจำนวน 10,000 คน แบ่งเป็น เด็กและเยาวชน 70% ครูและผู้ปกครอง 10% ผู้สูงอายุ 10% วัยทำงาน 10% ซึ่งกิจกรรมจะเป็นการให้ข้อมูลความรู้โดยใช้ "การ์ดพลังสื่อ" ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์มาจากมูลนิธิฟรีดริชเนามันมาเป็นสื่อการนำเสนอ ส่วนหัวข้อด้านสุขภาพ คือ การให้ข้อมูลถึงภัยอันตรายต่าง ๆ จากโทรศัพท์มือถือแก่เยาวชน โดยจะมีทีมงานของสมาคมที่เข้าร่วมเป็นผู้ตอบคำถาม เช่น สื่อมวลชน ทนายความ หรือแพทย์ เป็นต้น และจะมีการตั้งชมรมอาสาสมัครป้องกันภัยและเฝ้าระวังสื่อ โดยขอความร่วมมือจากน้อง ๆ ที่เข้าอบรมในโครงการดังกล่าวเข้าเป็นสมาชิก
อีกโครงการหนึ่งเป็นโครงการของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ชื่อ โครงการเพิ่มความสามารถในความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันที่มีต่อความผูกพันและความเสี่ยงจากการใช้สื่อสังคม online ของประชาชน ดำเนินโครงการโดยการวางกรอบแนวคิดที่จะมองในลักษณะของ Media Literacy เป็น Digital ซึ่งจะใช้คำว่า ความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ โดยสิ่งที่ต้องทำคือการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานในลักษณะของความผูกพันของประชาชนที่มีต่อเรื่องของสังคม online มีการเน้นงานวิจัยที่จะพัฒนาหรือค้นคว้าเพื่อหาองค์ความรู้และความเสี่ยงบนสื่อ online และหลังจากนั้นจะนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาเข้าสู่แนวทางในเรื่องของวิธีการ โดยจะออกมาในรูปแบบของงานประชุมวิชาการที่จะเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เพื่อมาระดมความคิดในการหาแนวทางการสร้างการเรียนรู้สำหรับประชาชนในภาครวมทุกกลุ่มวัย และมุ่งเน้นในการสร้างผลผลิตที่จะช่วยในเรื่องของการเป็น Literacy ของประชาชน นอกจากนี้โครงการฯ จะนำเอา Online Community มาใช้เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการเสพสื่อของประชาชน และจากนั้นอาจจะมีการพัฒนา AI ในการตรวจจับข้อมูลเท็จจริงต่าง ๆ ให้มากขึ้น เหมือนของทาง Facebook ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
โครงการที่ 6 คือ โครงการประกวด Social Media Smart Page Award โดยคณะบุคคลศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ซึ่งโครงการรู้เท่าทันสื่อโครงการนี้จะเน้นในส่วนของต้นทางของข้อมูลหรือสื่อที่ถูกมองว่าเป็นอันตราย โดยใช้กระบวนการการฝึกอบรมจนกว่าผู้ผลิตสื่อจะสามารถผลิตสื่อที่อยู่ในขอบเขตปลอดภัยและสร้างสรรค์ออกมาได้ ซึ่งชุดความรู้ที่จะใช้ในการฝึกอบรมจะประกอบไปด้วยความรู้ความเข้าใจและการสร้างจิตสำนึกใหม่ ส่วนกลยุทธ์ที่ใช้คือการจูงใจให้ผู้ผลิตสื่อเข้ามาร่วมทีละขั้นตอนและมีการประกวดการผลิตสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งจะมีเงินรางวัลให้ โดยผู้จัดกิจกรรมจะประชาสัมพันธ์เน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายคือประชาชนทั่วไปที่สนใจและผู้ที่เป็นเจ้าของ page website หรือ Blogger ต่าง ๆ นอกจากนั้นจะยังมีการควบคุมพฤติกรรมผู้ผลิตสื่อด้วยการสร้าง Blog เสมือนเป็นสมุดการบ้านที่จะแสดงให้เห็นว่า ผู้ผลิตสื่อสามารถ Generate Content อะไรออกมาได้บ้าง
โครงการสุดท้ายคือโครงการใช่ก่อนแชร์...ชัวร์ก่อนชอบ โดยสมาคมเยาวชนพัฒนาเมือง ลักษณะการดำเนินโครงการจะเป็นการสร้างองค์ความรู้และการสร้างนวัตกรรมด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับเยาวชนในการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งมีกิจกรรมหลักๆ คือ กิจกรรมผลิตสื่อและคู่มือ "ใช่ก่อนแชร์...ชัวร์ก่อนชอบ" กิจกรรมสร้างภูมิคุ้มกันรู้เท่าสื่อ กิจกรรมถอดบทเรียน และตั้งชมรมอาสาสมัคร "ใช่ก่อนแชร์...ชัวร์ก่อนชอบ" เพื่อเป็นกลไกในการมีส่วนร่วมทุกภาคในสังคมอย่างเป็นรูปธรรมในด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ทั้งนี้ กทปส. ในฐานะหน่วยงานที่ให้ทุนสนับสนุนเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาโครงการรู้เท่าทันสื่อให้แก่ 7 หน่วยงาน มีความมุ่งหวังที่จะสร้างทักษะและองค์ความรู้ให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ในการรู้เท่าทันสื่อและสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่สื่อนำเสนอว่ามีความถูกต้องเหมาะสมหรือไม่อย่างไร เนื่องจากความหลากหลายในการนำเสนอข่าวสารผ่านสื่ออาจมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม รวมถึงสื่อออนไลน์ที่กำลังเติบโตอย่างมากในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมด้านจรรยาบรรณและจริยธรรมของสื่อในการนำเสนอข่าวสารจากผู้ผลิตสื่อเพื่อให้มีการนำเสนอเนื้อหาสื่อที่เป็นประโยชน์ สร้างสรรค์ ถูกต้องเหมาะสมต่อสังคมอีกทั้งเกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการผลิตสื่อที่มีคุณภาพในอนาคต