กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงทุกชนิด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 71.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 66.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 70.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันสำเร็จรูปผันผวน โดยราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 84.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล ลดลง 0.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 87.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- นักลงทุนกังวลว่าจะวิกฤติการณ์ทางการเงินในตุรกีจะทวีความรุนแรงและส่งผลลบเป็นลูกโซ่ต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก (Emerging Market) ทำให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินทุน (Funds Flow) ออกจากสินทรัพย์เสี่ยง และทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย โดนัลด์ ทรัมป์ อนุมัติขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากตุรกีวันที่ 13 ส.ค. 61 เพราะตุรกีปฏิเสธไม่ปล่อยตัวนายบรุนสัน บาทหลวงชาวอเมริกันที่ถูกควบคุมตัวในตุรกีมาเกือบสองปี อนึ่งวันที่ 17 ส.ค. 61 ตุรกีตอบโต้สหรัฐฯ โดยการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ อาทิ ภาษีนำเข้ารถยนต์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 120% และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นเป็น 140%
- สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงเพราะประธานาธิบดีทรัมป์มีแนวโน้มเดินหน้าขึ้นภาษีสินค้านำเข้าที่ประกาศไว้ เพื่อแสดงว่ารัฐบาลพรรครีพับบลีกันจริงจังกับประเด็นการค้าที่ไม่เป็นธรรมเพื่อสนับสนุนตัวแทนของพรรคในการเลือกตั้งวุฒิสภาฯ เดือน พ.ย. 61 อนึ่งการค้าระหว่างประเทศที่ลดลงอาจกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกและอุปสงค์น้ำมัน ทั้งนี้ โรงกลั่นของจีนไม่ได้จัดซื้อน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ สำหรับการส่งมอบในเดือน ส.ค. 61 เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่รัฐบาลจีนจะขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ในวันที่ 23 ส.ค. 61
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 10 ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry) ของญี่ปุ่น รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบ ในเดือน ก.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 10.2% มาอยู่ที่ 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- หน่วยงานศุลกากรของเกาหลีใต้รายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.6% มาอยู่ที่ 3.05 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ลดลงจากปีก่อน 43.5% มาอยู่ที่ 186,500 บาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าปริมาณเฉลี่ยช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ที่นำเข้า 240,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics) รายงานโรงกลั่นในประเทศกลั่นน้ำมันที่ระดับ 11.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.5% ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.6% สู่ระดับ 3.73 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นทางเทคนิค หลังราคา ICE Brent ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทดสอบแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน (Simple Moving Average 200 days) ที่ 70.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ประกอบกับมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ ยังคงสนับสนุนตลาด ล่าสุด นักการทูตระดับสูงของอิหร่านประชุมร่วมกับนาย Mohammed Barkindo เลขาธิการกลุ่ม OPEC ซึ่งได้แถลงว่า "ไม่มีประเทศใดได้รับอนุญาตให้แย่งชิงส่วนแบ่งในการผลิตและการส่งออกของประเทศสมาชิก" อีกทั้งยังย้ำว่ากลุ่ม OPEC ควรจะสนับสนุนประเทศสมาชิกในกลุ่ม และหยุดการแทรกแซงด้านการเมืองจากภายนอก ล่าสุด สหรัฐฯ ได้มีการจัดตั้งกลุ่ม Iran Action Group (IAG) ในกระทรวงต่างประเทศ โดยมีผู้อำนวยการแผนและนโยบายของกระทรวงต่างประเทศ นาย Brian Hook เป็นผู้นำกลุ่ม ซึ่งกลุ่มดังกล่าวสนับสนุนแนวทางรุนแรงต่ออิหร่านของประธานาธิบดีสหรัฐฯ สถาบันวิจัย National Iranian American Council (NIAC) ของสหรัฐฯ มองว่าการตั้งกลุ่มดังกล่าวอาจ นำสหรัฐฯ ไปสู่สงครามกับอิหร่าน ทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอิหร่าน นาย Mohammed Javad Zarif กล่าวว่าสหรัฐฯ ตั้งกลุ่ม IAG เพื่อโค่นล้มอิหร่าน แต่จะล้มเหลว ไม่ซ้ำรอยเหตุการณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2496 ซึ่งสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังรัฐประหารขับไล่นายกรัฐมนตรีอิหร่านที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย และแต่งตั้งผู้นำที่สหรัฐฯ สนับสนุน เป็นเวลากว่า 25 ปี ก่อนหน้าเกิดการปฏิวัติอิหร่านในปี พ.ศ. 2522 ในระยะสั้นคาดว่าตลาดจะยังถูกกดันจาก sentiment ของนักลงทุนที่ไม่สู้ดีนัก อีกทั้งกองทุนอาจชะลอการลงทุนในภาคพลังงานในช่วงนี้ หลังจากในเดือน ก.ค. 61 ขาดทุนมาก รวมถึง 2 กองทุนด้านพลังงานใหญ่สุดของโลก Andurand Capital และ BBL Commodities ซึ่งขาดทุนถึง 15.2% และ 14.2% ตามลำดับ อย่างไรก็ตามประเด็นสงครามทางการค้าอาจผ่อนคลาย โดยตัวแทนจากจีนจะประชุมร่วมกับสหรัฐฯ ในวันที่ 22- 23 ส.ค. 61 เป็นแรงสนับสนุนให้ราคาน้ำมันสามารถให้ทรงตัวเหนือ 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ต่อไป สัปดาห์นี้คาดราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70.5-74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 65.5-69.0เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 69.5-73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น จากอุปสงค์น้ำมันเบนซินของอินโดนีเซียแข็งแกร่งในช่วงกีฬาเอเชียนเกมส์ วันที่ 18 ส.ค.- 2 ก.ย. 61 ทั้งนี้เดือน ก.ย. 61 คาดว่าจะนำเข้าอยู่ที่ 11 - 11.5 ล้านบาร์เรล (เดือน ก.ค. - ส.ค. 61 นำเข้าเดือนละ 10 ล้านบาร์เรล) ประกอบกับ หน่วย Fluid Catalytic Cracker (FCC) ที่โรงกลั่นน้ำมัน Jamnagar ในอินเดีย (กำลังการกลั่น 500,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Reliance Industries Ltd. เกิดเหตุขัดข้องวันที่ 15 ส.ค. 61 ซึ่งบริษัทฯ ประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) และPlatts คาดว่าจะเปิดดำเนินการวันที่ 22 ส.ค. 61 ด้านปริมาณสำรอง Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ส.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 800,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 233.1 ล้านบาร์เรล และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ส.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 500,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 14.24 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics – NBS) รายงานปริมาณการผลิต น้ำมันเบนซินในเดือน ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.9% มาอยู่ที่ 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน (China Petroleum and Chemical Corp. (Sinopec) ของจีนส่งออกน้ำมันเบนซิน 98 RON มาตรฐานเทียบเท่า Euro V ปริมาณ 382,500 บาร์เรล ไปยังฮ่องกงเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน พ.ย. 59) ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 82.5-86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจาก อุปสงค์น้ำมันดีเซลของอินเดียที่ลดลงจากอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ที่รัฐเกรละมีผู้เสียชีวิตหลายร้อย และบริษัท Mangalore Refinery & Petrochemicals (MRPL) ออกประมูลขายน้ำมันเบนซิน 300,000 บาร์เรล ส่งมอบ 16-18 ก.ย. 61 ขณะที่ NBS ของจีนรายงานอุปสงค์น้ำมันดีเซล เดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 11.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากค่าเฉลี่ยเดือน ม.ค.- ก.ค. 61 ที่ระดับ 11.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 129.0 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 เดือน อย่างไรก็ตาม โรงกลั่น Nghi Son ในเวียดนาม (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ประสบปัญหาด้านกระแสไฟฟ้า ต้องหยุดดำเนินการฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 61 และบริษัทยังไม่สามารถระบุระยะเวลาในการซ่อมแซมได้ ขณะที่ โรงกลั่น Mizushima ในญี่ปุ่น ( กำลังการกลั่น 320,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ JXTG Nippon Oil and Energy Corp. ประกาศปิดซ่อมบำรุงตามแผน ระหว่างเดือน ต.ค. - พ.ย. 61 และความต้องการใช้น้ำมันดีเซลของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังรัฐบาลประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามจับปลาในฤดูวางไข่ในเดือน ก.ย. 61 ประกอบกับ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ส.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 10,000 บาร์เรล อยู่ที่ 9.08 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 เดือน ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 85-88.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล