กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง
เกษตรกรรุ่นใหม่ภาคตะวันออก ใช้ตลาดนำการผลิต มุ่งสู่ผู้ประกอบการครบวงจร
นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า Young Smart Farmer หรือเกษตรกรรุ่นใหม่ เป็นแนวทางที่กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกภายใต้การดูแลของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้มีการดำเนินการขับเคลื่อน จำนวน 1,414 ราย ตั้งแต่ปี 2557 มาจนถึงปัจจุบัน และมีจำนวน Young Smart Farmer เพิ่มขึ้นทุกปี
ปัจจุบันได้มีการเติมเต็มในด้านความรู้เพื่อการผลิตอย่างครบวงจร โดยได้จัดอบรมถ่ายทอดความรู้ให้กับ Young Smart Farmer ด้วยการเน้นในเรื่องของตลาดนำการผลิตตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการส่งเสริมให้มีการสร้างเครือข่ายในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ด้วยการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี มาใช้ในการดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เกิดการรวมกลุ่มของ Young Smart Farmer ในการทำการผลิต การแปรรูป และการทำการตลาดร่วมกัน
อย่างเช่น Young Smart Farmer จังหวัดนครนายก ที่สวนธำรงฟาร์มของนางสาววรวรรณ ธำรงวรางกูร ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ไม่ได้ศึกษามาทางด้านการเกษตร แต่จบปริญญาโทจากประเทศอังกฤษในด้านการตลาด ก็ได้นำความรู้ที่
เล่าเรียนมา มาประยุกต์ใช้ในการทำการผลิตทางการเกษตร มีการวางแนวทางการผลิตตามความต้องการของตลาด ตลอดถึงจัดทำแผนการผลิตเพื่อให้มีผลผลิตป้อนสู่ตลาดได้อย่างพอเพียงและต่อเนื่อง
"กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง จัดอบรมพัฒนา Young Smart Farmer ให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ ซึ่งได้จัดขึ้นจำนวน 2 ครั้ง นางสาววรวรรณ ธำรงวรางกูร ได้เข้าร่วมการอบรมทั้ง 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการอบรมให้ความรู้ในเรื่องการจัดทำแผนการตลาด และครั้งที่ 2 เน้นด้านการวางแผนธุรกิจ เป็นการอบรมควบคู่ไปกับการฝึกปฏิบัติ เกษตรกรรายนี้ได้นำแผนการผลิตและการตลาดไปเป็นแนวทางปฏิบัติ พร้อมประยุกต์ใช้กับกระบวนการผลิตของตนเอง จนประสบความสำเร็จในการทำการผลิตและการตลาดในปัจจุบัน" นายชาตรี บุญนาค กล่าว
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า ในขณะนี้สำนักงานฯ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ Young Smart Farmer มีการรวมกลุ่มกันจัดสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนและทำแผนร่วมกันทั้งในประเทศและนอกประเทศ มีการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะของแต่ละจังหวัดเพื่อให้ Young Smart Farmer ได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการตั้งกลุ่ม Line เพื่อการสื่อสารโต้ตอบกันได้อย่างรวดเร็ว เสมือนเป็นช่องทางในการถ่ายทอดประสบการณ์ด้านการผลิตของแต่ละคน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมไปถึงการ share ผลผลิตและการตลาดร่วมกัน นับเป็นการสร้างอนาคตทางการเกษตรที่มั่นคงให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศอย่างมีอนาคตต่อไป
ทางด้านนางสาววรวรรณ ธำรงวรางกูร และ ศรัณย์ธร ทวีอิทธิพงศ์ Young Smart Farmer จังหวัดนครนายก เจ้าของธำรงฟาร์ม จังหวัดนครนายก เปิดเผยว่าทั้ง 2 คนร่วมกันทำการเกษตรบนพื้นที่ 45 ไร่ เป็นเกษตรแบบผสมผสานแล้วนำผลผลิตไปแปรรูป ผลิตภัณฑ์หลักจะเป็นกล้วยน้ำว้า มะพร้าวน้ำหอม และผักที่เน้นปลูกไว้กินเองภายในครอบครัว เหลือจึงแบ่งขาย โดยสินค้าแปรรูปที่ทำรายได้มากที่สุด ณ ตอนนี้ก็เป็นกล้วยน้ำว้าอบหวานแบบธรรมชาติ เป็นกล้วยน้ำว้าพันธุ์พื้นบ้านของไทยนำมาอบโดยที่ไม่ได้เติมแต่งอะไรเลย
"เริ่มจากที่ไม่มีความรู้เรื่องการเกษตรมาก่อน ก็ได้เข้าไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในจังหวัด และได้รับทราบว่ามีโครงการ Young Smart Farmer จึงสมัครเข้ารับการอบรม เมื่อเข้ารับการอบรม Young Smart Farmer ทำให้รู้สึกว่าทุกวันนี้เจ้าหน้าที่และรัฐบาลได้ลงมาสนับสนุนเกษตรกรเยอะมาก แต่คนที่ไม่รู้ก็ยังมีอีกเยอะ แต่พอได้เรียนรู้ก็มีความเข้าใจอะไรหลายอย่างเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการเพาะปลูก การแปรรูป และการทำการตลาด ซึ่งนับตั้งแต่เข้ามาเป็น Young Smart Farmer ทำให้มีโอกาสดีๆ เข้ามาเยอะมาก หลายๆ ที่ ที่ได้ไปดูงานทำให้มีความรู้ได้ช่วยเติมเต็มให้เรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคพืชและแมลงทำลายพืช การบำรุงดิน ล่าสุดได้ไปอบรมในโครงการผู้ประกอบการเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งจัดโดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกจัดที่จังหวัดสมุทรปราการ ครั้งที่ 2 จัดที่จังหวัดจันทบุรี เนื้อหาหลักๆ ก็คือเรื่องเกี่ยวกับการตลาด การบัญชี ส่วนตัวพอมีพื้นฐานการตลาดมาบ้าง เพราะได้เรียนมาแล้ว ก็ได้รู้อะไรที่เราอาจเคยรู้แต่ลืมไปแล้ว หรือไม่เคยรู้มาก่อนก็สามารถนำเอามาปรับใช้ได้เยอะ เช่น การวางแผนธุรกิจ ที่ทำให้สามารถกลับมาวิเคราะห์ตัวเองได้เป็นอย่างดีในการทำการผลิต หรือเรื่องบัญชีที่ไม่เคยมีความรู้มาก่อนเลยก็ได้รู้และเข้าใจมากขึ้น ทำให้การทำงานในการผลิตเป็นระบบมากขึ้น" นางสาววรวรรณ ธำรงวรางกูร กล่าว
Young Smart Farmer จังหวัดนครนายก กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าหลังจากผ่านการอบรม เดิมเป็นคนกรุงเทพย้ายมาอยู่จังหวัดนครนายก จากที่ไม่รู้จักใครเมื่อได้เข้าร่วมโครงการฯ ก็ได้รู้จักเจ้าหน้าที่และมีเครือข่ายในจังหวัดนครนายก เมื่อไปอบรมก็ได้สร้างเครือข่ายเพิ่มขึ้น มีช่องทางการตลาดต่อยอดผลผลิตได้กว้างขึ้น ได้แชร์ประสบการณ์กับเกษตรกรรายอื่นๆ ได้รู้ว่าแต่ละคนว่าทำอะไร ประสบปัญหาและแก้ไขอย่างไร ก็เอาข้อดีของเขามาปรับใช้
สำหรับพื้นที่ 45 ไร่ ของเกษตรกรรายนี้ได้มีการแบ่งออกเป็น 5 โซน โซนแรกพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ เรียกว่าโซนกิจกรรม จะมีเล้าเป็ด แปลงสาธิต สำหรับรองรับผู้ที่สนใจเดินทางเข้าศึกษาดูงาน โซนที่ 2-3 จะเป็นโซนผลไม้จะมีกล้วยเป็นหลัก แซมด้วยมะม่วง ขนุน และกำลังจะนำทุเรียนมาปลูกในโซนนี้ด้วย โซนที่ 4-5 จะเป็นแปลงผัก
ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่หันหลังให้กับอาชีพรับจ้างเพื่อหาเงินมาซื้อผลผลิตบริโภค มาเป็นผู้ผลิตที่ทำเองอย่างครบวงจร ภายใต้วิถีชีวิตเกษตรกรรมอย่างมีอนาคต