กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
วันที่ 21 สิงหาคม 2561 ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(รมว.วธ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่(ครม.สัญจร) ครั้งที่ 6/2561 พื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันว่า ที่ประชุมครม.รับทราบแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ตามเส้นทางสายไหมทางทะเล เชื่อมโยงฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามันในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ 1.การพัฒนาศิลปวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เช่น การผลักดันวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราชสู่บัญชีเบื้องต้นมรดกโลกของยูเนสโก และพัฒนาศักยภาพแหล่งโบราณสถานและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 2.ส่งเสริมกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม อาทิ ยกระดับเทศกาล ประเพณีท้องถิ่นสู่ระดับชาติและนานาชาติ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น งานประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง ประเพณีสารทเดือนสิบ เทศกาลถือศีลกินผัก และ3.การส่งเสริมศิลปิน การแสดงพื้นบ้านและมรดกภูมิปัญญา เช่น โนรา หนังตะลุง ลิเกป่า พร้อมทั้งขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 28 รายการ
นอกจากนี้ ยังได้รายงานผลการลงพื้นที่ตรวจราชการให้ที่ประชุมครม.รับทราบ ได้แก่ โครงการเที่ยวงานวัด 55 เมืองรอง พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช การสาธิตภูมิปัญญาท้องถิ่นและการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมของชุมชนคุณธรรมฯในพื้นที่ที่วัดบ้านหงาว จังหวัดระนอง และโครงการเที่ยวงานวัด 55 เมืองรองที่วัดดอนทรายแก้ว จังหวัดชุมพร รวมถึงการพัฒนาศักยภาพโบราณสถานวัดสุวรรณคีรีวิหาร จังหวัดระนอง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และติดตามการดำเนินงานพัฒนาศักยภาพโบราณสถานวัดโตนดและวัดพระบรมธาตุสวี จังหวัดชุมพร เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดยมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ได้แก่
1.ให้กรมศิลปากร(ศก.)บูรณะโบราณสถานที่สำคัญในพื้นที่ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม อาทิ ป้ายบอกทาง ป้ายข้อมูลประวัติความเป็นมา รวมถึงให้เพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวรับทราบ
2.ให้กรมการศาสนา(ศน.) กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ส่งเสริมการท่องเที่ยวงานวัดในจังหวัดที่เป็น 55 เมืองรอง โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นมาเชื่อมโยงกับการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นรากเหง้าและวิถีชีวิตแบบไทย
และ3.ให้กรมศิลปากร(ศก.) และกรมส่งเสริมวัฒนธรรมศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจัดทำแผนงาน/โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยเชื่อมโยงฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน รวมทั้งเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมทางทะเลด้วย
ทั้งนี้ ผลจากการที่วธ.ขับเคลื่อนการทำงานทางวัฒนธรรมร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชนในปี 2560 ส่งผลให้กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน มีผู้เดินทางมาเยือนทั้งชาวไทยและต่างชาติกว่า 43 ล้านคน มูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 765,890 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีผู้เดินทางมาเยือนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 และรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ทั้งนี้ จากการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมดังกล่าวได้สร้างความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรม สร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชน ท้องถิ่นและประเทศไทยอย่างยั่งยืน