กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--การยางแห่งประเทศไทย
การยางแห่งประเทศไทย กยท. เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การปรับปรุงแนวทางการจัดการเกษตรที่ดีเพื่อการผลิตยางธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 60 คน จาก 8 ประเทศสมาชิกทั่วโลก ระหว่างวันที่ 14 – 16 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรม แกรนด์ เมอเคียว ฟอร์จูน พระราม 9 กรุงเทพฯ
กยท. เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การปรับปรุงแนวทางการจัดการเกษตรที่ดีเพื่อการผลิตยางธรรมชาติอย่างยั่งยืน Workshop on improved Ago Management Practices to Sustain Rubber Production (IRRDB) ประจำปี 2561 โดยสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ (International Rubber Research and Research and Development Board : IRRDB) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ประเทศสมาชิกมาจากหน่วยงานสถาบันวิจัย ประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา บราซิล แคมารูน จีน โก๊ตดิวัวร์ ฝรั่งเศส กัวเตมาลา อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เวียดนาม และไทย โดยสำนักงานเลขาธิการตั้งอยู่ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสถาบันสมาชิกในเรื่องงานวิจัยและพัฒนายางธรรมชาติ ประสานงานระหว่างสถาบันสมาชิก และจัดกิจกรรมการประชุมพัฒนายางพาราร่วมกัน สำหรับประเทศไทย รัฐบาลไทยได้มอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรหลักในการดำเนินการกิจกรรมร่วมกับสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง ในฐานะประธานเปิดงานสัมมนาในครั้งนี้ กล่าวว่าการสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม IRRDB เปิดโอกาสให้นักวิจัย นักวิชาการของประเทศสมาชิกได้แบ่งปันความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนาแนวทางการจัดการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตและการผลิตยางธรรมชาติ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย นักวิชาการของประเทศสมาชิกได้เข้าใจ และรับทราบถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการผลิตยางที่ทันสมัยในการจัดการเกษตรที่ดีเพื่อการผลิตยางธรรมชาติอย่างยั่งยืน และยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ ตลอดจนข้อมูลข่าวสารระหว่างสถาบันสมาชิก ในการนำมาพัฒนาอุตสาหกรรมยางของประเทศสมาชิกให้สามารถต่อยอดสู่นวัตกรรม งานวิจัยและการพัฒนายางพาราต่อไปในอนาคตได้ กิจกรรมทางวิชาการครั้งนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงประเด็นองค์ความรู้ทางลักษณะการเกษตรที่แตกต่าง การลดระยะเวลาในการเก็บผลผลิต การรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและการนำเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวน้ำยางมาใช้เพื่อลดความสูญเสีย และลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการจัดการโรคในยางพารา และการจัดการทางการตลาดเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศสมาชิก จากประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมสัมมนาจำนวน 8 ประเทศ จาก 16 ประเทศสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา จีน ฝรั่งเศส อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไนจีเรีย และไทย จำนวนกว่า 60 คน ให้สามารถนำข้อมูลต่างๆ ต่อยอดนำไปสู่นวัตกรรมทางวิชาการในอนาคตเพื่อพัฒนายางพาราต่อไป นายณกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย