กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--มรภ.สงขลา
อาจารย์เทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ มรภ.สงขลา โชว์ผลงานเวทีประชุมวิชาการระดับชาติ คว้า 2 รางวัลชนะเลิศภาคบรรยายควบโปสเตอร์ พร้อมเป็นตัวแทนมหา'ลัย เข้าอบรมความรู้ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน
ดร.วัชรินทร์ สายน้ำใส อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในเวทีประชุมวิชาการต่างๆ และได้รับรางวัลชนะเลิศจากงานวิจัย 2 เรื่องคือ การศึกษาการใช้สารตัวเติม 3 ชนิด ได้แก่เขม่าดำ ซิลิกา และแคลเซียมคาร์บอเนตต่อสมบัติเชิงพลวัตของยางธรรมชาติวัลคาไนซ์ ซึ่งนำเสนอภาคบรรยาย ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับดี (Best Oral Presentation) กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการประชุมวิชาการระดับชาติ "การประชุมวิชาการ มอบ.วิจัย ครั้งที่ 12" ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผลการวิจัยพบว่ายางธรรมชาติผสมเขม่าดำมีการอ่อนตัวของความเค้นและพลังงานสูญหายสูงกว่ายางธรรมชาติผสมซิลิกาและยางธรรมชาติผสมแคลเซียมคาร์บอเนต โดยเมื่อจำนวนครั้งของการถูกกระทำอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้น การอ่อนตัวของความเค้น และพลังงานสูญหายมีค่าลดต่ำลง เมื่อปริมาณของสารตัวเติมเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความเค้นสูงสุด พลังงานสูญหาย และความเครียดคงรูปถาวรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผลงานวิจัยที่ได้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ยางทางวิศวกรรมต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางที่ได้รับแรงกระทำอย่างต่อเนื่อง เช่น ยางกันชน ยางกันกระแทก ยางรองแท่นเครื่อง เป็นต้น
ดร.วัชรินทร์ กล่าวว่า สำหรับงานวิจัยเรื่อง Strength and Strain-induced Crystallization of Vulcanized Natural Rubber ซึ่งนำเสนอภาคโปสเตอร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ (Best Poster Presentation) ในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 9 พร้อมกับการประชุมวิชาการระดับชาติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 10 ในหัวข้อ "ราชมงคลขับเคลื่อนนวัตกรรมก้าวไกลสู่ Thailand 4.0" ณ โรงแรมเรือรัษฎา อ.เมือง จ.ตรัง งานวิจัยเรื่องนี้ศึกษาผลของปริมาณการเชื่อมโยงโมเลกุลยางต่อสมบัติด้านความแข็งแรงและการเกิดผลึกเมื่อยืดของยางธรรมชาติวัลคาไนซ์ โดยพบว่าความแข็งแรงและปริมาณของการเกิดผลึกเมื่อยืดของยางธรรมชาติวัลคาไนซ์มีค่าสูงขึ้นตามปริมาณการเชื่อมโยง จนถึงจุดหนึ่งแล้วค่าทั้งสองจะตกลง และมีผลต่ออัตราการเกิดผลึก แต่ไม่มีผลต่อระยะยืดที่เริ่มเกิดผลึก ซึ่งผลที่ได้จากงานวิจัยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการออกสูตรยางคอมเปานด์ให้มีสมบัติที่ตรงตามต้องการได้
นอกจากนั้น ยังเป็นตัวแทนเข้าร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ASEAN Workshop on Infrared Spectroscopy and Imaging (AWIR2018) จัดโดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา โดยเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมอบรมทั้งชาวไทยและประเทศสมาชิกอาเซียน จำนวนทั้งสิ้น 40 คน ซึ่งตนผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ โดยได้รับทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการเข้าร่วมอบรม พร้อมทั้งเป็นตัวแทนเข้าฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเทคโนโลยียาง หลักสูตรเทคโนโลยีการติดของยาง จัดโดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ณ โรงแรมศาลายาพาวิลเลี่ยน วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ.นครปฐม เพื่อนำความรู้มาพัฒนาการเรียนการสอนต่อไป