กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน "เบบินคา"และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้เกิดอุทกภัย รวม 8 จังหวัด สถานการณ์คลี่คลายแล้วทั้งหมด ยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัยจากพายุโซนร้อน "เซินติญ" รวม 3 จังหวัด ได้แก่ นครพนม บึงกาฬ และเพชรบุรี ซึ่ง ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภค แก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลของพายุโซนร้อน "เบบินคา" และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 - 21 สิงหาคม 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่ม ใน 8 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ และหนองคาย รวม 47 อำเภอ 174 ตำบล 686 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,032 ครัวเรือน 40,157 คน ผู้เสียชีวิต 4 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วทั้งหมด ส่วนสถานการณ์จากอิทธิพลพายุโซนร้อน "เซินติญ" และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม – 22 สิงหาคม 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มใน 32 จังหวัด รวม 109 อำเภอ 405 ตำบล 2,350 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 51,161 ครัวเรือน 149,831 คน ผู้เสียชีวิต 2 ราย สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 29 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 3 จังหวัด รวม 13 อำเภอ 65 ตำบล 551 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,758 ครัวเรือน 32,474 คน ได้แก่
นครพนม น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาแก อำเภอศรีสงคราม อำเภอนาหว้า อำเภอนาทม และอำเภอบ้านแพง รวม 36 ตำบล 395 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,750 ครัวเรือน 21,997 คน ปัจจุบันระดับน้ำโขงเพิ่มขึ้น
บึงกาฬ น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า อำเภอโซ่พิสัย อำเภอปากคาด และอำเภอศรีวิไล รวม 23 ตำบล 126 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,604 ครัวเรือน 8,736 คน ปัจจุบันระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น
และเพชรบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง และอำเภอบ้านลาด ประชาชนได้รับผลกระทบ 404 ครัวเรือน 1,741 คน ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำ ออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ในเบื้องต้นแล้ว ท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป