กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์นำตัวแทนสหกรณ์การเกษตร บินลัดฟ้าเยือนประเทศจีน ศึกษาดูงานการทำเกษตรแปลงใหญ่ ปลูกข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด และผักในโรงเรือน ควบคุมด้วยเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงและแม่นยำ ภายใต้โครงการความร่วมมือการเกษตรระหว่างจีน-ไทย ชื่นชมจีนใช้แอปพิเคชั่นเพื่อช่วยเกษตรกรยกระดับคุณภาพและเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตร พร้อมตั้งเป้านำความรู้กลับมาพัฒนาการผลิตสินค้าให้กับสหกรณ์ของไทยเพื่อให้ทันสมัย เตรียมผลักดันเกษตรแปลงใหญ่นำร่อง 3 สหกรณ์
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วยตัวแทนสหกรณ์ 3 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์นิคมลานสักจำกัด จังหวัดอุทัยธานี สหกรณ์นิคมแม่สอด จำกัด จังหวัดตาก และสหกรณ์การเกษตรปักธงชัย จำกัด จังหวัดนครราชสีมา เดินทางไปศึกษาดูงานและเยี่ยมชมการปลูกผักในโรงเรือนซึ่งมีการควบคุมด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและแม่นยำ ซึ่งการเดินทางดังกล่าวดำเนินการภายใต้โครงการความร่วมมือด้านการเกษตรไทย-จีน และได้มีโอกาสหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับข้าราชการฝ่ายปกครอง, ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร และภาคเอกชนผู้ผลิตผักรายใหญ่ของจีน ณ เมืองซูกวาง มณฑลซานตง
นายวิศิษฐ์ ระบุว่า ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนประสบปัญหาเหมือนกับประเทศไทยคือเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เพราะคนหนุ่มสาวไม่นิยมทำงานในภาคการเกษตร ดังนั้น เกษตรกรจึงทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยรวมพื้นที่ของเกษตรกรรายย่อยเข้ามา และให้คณะกรรมการหมู่บ้านเป็นตัวแทนเจรจากับภาคเอกชนเข้ามาลงทุน ทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และใช้เทคโนโลยีความแม่นยำสูงมาพัฒนาภาคการเกษตร เช่น การให้น้ำ ปุ๋ย และการวิเคราะห์สภาพดินในแปลงเพาะปลูกพืช เช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด พืชผัก ซึ่งทำให้มีความเจริญมาก อีกทั้งยังมีการสร้างโรงเรือนทั้งหมด โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุน กว่า 5 แสนไร่ และมีตลาดรองรับผลผลิตภายในประเทศจีน และส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศที่รัสเซียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับเมืองซานตงถือเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร และรัฐบาลสนับสนุนเอกชนในการเข้ามาลงทุนทำ เกษตรแปลงใหญ่ โดยเฉพาะผักที่ปลูกในโรงเรือนและใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานคนซึ่งล้ำหน้ากว่าการเกษตรของไทย มีการใช้ดาวเทียมวิเคราะห์ดินและสภาพพื้นที่ และเชื่อมโยงกับฐานข้อมูล Big Data และมีแอปพลิเคชั่นเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรบนคอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งบูรณาการข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับพื้นที่การเกษตรจากทุกหน่วยงาน ซึ่งข้อมูลภายในแอปพิเคชั่นประกอบด้วย 1.ข้อมูลพื้นที่ด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรเข้าไปดูข้อมูลสภาพพื้นที่ของเกษตรกร เพื่อให้ปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพดินในพื้นที่ตัวเอง ซึ่งก่อนจะปลูกพืชแต่ละชนิด เกษตรกรจะต้องลงทะเบียน โดยในหมู่บ้านจะมีอินเตอร์เน็ตตำบลสำหรับให้เกษตรเข้าไปคีย์ข้อมูลในระบบว่าจะเพาะปลูกอะไร ต้นทุน ผลตอบแทนต่อไร่เท่าไหร่ และมีแหล่งรับซื้อจากที่ไหน ซึ่งระบบจากประมวลผลและแสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูล ด้านการเกษตรในรูปแบบสถิติ กราฟ ตัวเลข 2. ข้อมูลทรัพยากรพื้นฐานการผลิตด้านดิน น้ำและพืช 3. ข้อมูลด้านการตลาดและการซื้อขาย จะมีบริษัทเข้ามาดูข้อมูลที่เกษตรกรปลูกพืชและจะมีการจับคู่ทำการซื้อขายระหว่างกันทันที 4. ข้อมูลด้านการประเมินเพื่อขอสินเชื่อจากธนาคาร กรณีการให้สินเชื่อถ้าไม่เกิน 1แสนหยวน จะมีระบบตรวจสอบใบหน้าบุคคลโดยไม่ต้องทำสัญญาแต่จะใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบใบหน้าในการประเมินการให้สินเชื่อ 5. ข้อมูลการตรวจสอบสินค้าเกษตร จะมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ตรวจสอบเหมือนกับการตรวจสอบมาตรฐาน GMP ของไทย โดยเข้าไปติดตามตรวจสอบข้อมูลของเกษตรกรว่ามีสินค้าอะไรบ้าง และจะดูว่าแปลงไหนบ้างที่ทำได้ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด 6.ข้อมูลด้านการสอนแนะนำการทำการเกษตรว่าควรจะปลูกและดูแลรักษาอย่างไร และรายละเอียดเกี่ยวกับโรงเรือนปลูกพืช
นายวิศิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการความร่วมมือด้านการเกษตรไทย-จีนครั้งนี้ เป็นการศึกษาดูงานเพื่อ จะนำความรู้มาพัฒนาเกษตรกรของไทย หลังจากที่ได้ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับจีนแล้ว ทางกรมฯมีแนวคิดว่าจะนำความรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาการผลิตพืชผักและสินค้าการเกษตรให้กับสหกรณ์ของไทย เพื่อให้สหกรณ์นำไปถ่ายทอดและส่งเสริมกับสมาชิกของแต่ละสหกรณ์เอง ซึ่งการทำเกษตรแปลงใหญ่โดยใช้เทคโนโลยีความแม่นยำสูง สหกรณ์ต้องลงทุนเองแล้วก็แบ่งผลประโยชน์ให้กับสมาชิก นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของจีนยังพร้อมให้ความร่วมมือ และเสนอแนวคิดว่าหากประเทศไทยจะทำการเกษตรแปลงใหญ่จริง ๆ ทางจีนยินดีจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรของไทย ซึ่งตนเห็นว่าสหกรณ์ทั้ง 3 แห่งที่เดินทางไปด้วยกันมีศักยภาพและมีพื้นที่แปลงใหญ่ที่จะทำการเกษตรแบบจีนได้ ดังนั้น จึงจะให้สหกรณ์ทั้ง 3 แห่งนำร่องทดลองทำเกษตรแปลงใหญ่ตามแบบที่ได้ ดูงานมาจากประเทศจีน ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์จะสนับสนุนเงินทุนส่วนหนึ่งให้กับสหกรณ์นำไปส่งเสริมสมาชิก ทำเกษตรแปลงใหญ่ และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาพื้นที่ รวมถึงพัฒนาคุณภาพและเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรให้กับสมาชิก ให้เป็นที่ยอมรับและตรงตามความต้องการของตลาด ส่งผลทำให้ธุรกิจของสหกรณ์มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป