กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไฮเวย์ จำกัด ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตของบริษัทฐิติกร สะท้อนสถานะผู้นำในตลาดธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ตลอดจนคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ เครือข่ายสาขาที่กว้างขวาง ความสามารถในการทำกำไรในระดับสูง และโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้าเป้าหมายซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน และการแข่งขันที่รุนแรงอาจนำไปสู่ความยากลำบากในการขยายสินเชื่อและกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และเครือข่ายสาขาที่กว้างขวางจะช่วยให้บริษัทสามารถดำรงสถานะผู้นำตลาดและสามารถบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทคาดว่าจะช่วยรองรับการขยายสินเชื่อในอนาคตรวมทั้งบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในทางลบได้
ทริสเรทติ้งกล่าวถึงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทไฮเวย์ ว่าอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดจนคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ และความสามารถในการทำกำไรในระดับค่อนข้างสูง ในการให้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงสถานภาพการเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% โดยธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งคาดว่าจะให้การสนับสนุนบริษัทอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้าของบริษัท รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากผลขาดทุนในการขายรถยึด การแข่งขันที่รุนแรง และโครงสร้างเงินทุนที่อ่อนตัวลงหลังจากการจ่ายเงินปันผลจำนวนมาก นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระค่างวดของลูกค้าซึ่งจะกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรของบริษัท แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงดำรงสถานะทางการตลาดจากการมีความสามารถในการทำกำไรในระดับสูงและจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากบริษัทแม่ต่อไป
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทฐิติกรมีธุรกิจหลักคือการให้สินเชื่อรถจักรยานยนต์ โดยบริษัทมีสินเชื่อรถจักรยานยนต์คงค้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 2,800 ล้านบาทในปี 2546 เป็น 4,273 ล้านบาทในปี 2548 ตามการเติบโตของยอดรถจดทะเบียนใหม่ที่เพิ่มขึ้น ยอดรถจดทะเบียนใหม่ในปี 2549 ลดลง 1% แต่สินเชื่อรถจักรยานยนต์คงค้างของบริษัท ณ สิ้นปีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 4,310 ล้านบาท แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจะทำให้ยอดรถจดทะเบียนใหม่ลดลง 21% สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2550 แต่สินเชื่อรถจักรยานยนต์ของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 4,356 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 โดยเพิ่มขึ้น 1% จากสิ้นปี 2549 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 สินเชื่อคงค้างรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 5,170 ล้านบาท ลดลงจาก 5,383 ล้านบาทในปี 2549 และ 5,769 ล้านบาทในปี 2548 การหดตัวของสินเชื่อคงค้างรวมเป็นผลมาจากการชะลอตัวของสินเชื่อรถยนต์ โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนสินเชื่อรถยนต์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 26% ในปี 2548 เป็น 20% ในปี 2549 และเป็น 16% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 บริษัทมีกำไรสุทธิ 217 ล้านบาทสำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2550 เพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 5.3% สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2550 (ตัวเลขเต็มปี)
บริษัทฐิติกรมีสาขา 68 แห่งในพื้นที่ 37 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ การมีจำนวนเครือข่ายสาขาที่มากกว่าคู่แข่งทำให้บริษัทมีศักยภาพในการแข่งขันที่เหนือกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ บริษัทมีสินเชื่อรถจักรยานยนต์ใหม่จากภูมิภาคคิดเป็น 40.2% ของสินเชื่อรถจักรยานยนต์ใหม่ทั้งหมดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 โดยเพิ่มขึ้นจาก 36.6% ในปี 2549
ในส่วนของบริษัทไฮเวย์นั้น ทริสเรทติ้งกล่าวว่าบริษัทเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในแง่ของลูกค้าใหม่ สินเชื่อรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 2,596 ล้านบาทในปี 2548 เป็น 2,976 ล้านบาทในปี 2549 ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นสูงกว่า 2 ล้านคันต่อปีเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันในช่วงระหว่างปี 2547-2549 ในปี 2550
อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในประเทศชะลอตัวลงอย่างมาก ส่งผลให้ยอดรถจดทะเบียนใหม่ลดลง 21% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงสามารถรักษาสถานะทางการตลาดเอาไว้ได้ สินเชื่อรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 3,042 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2550 บริษัทมีกำไรสุทธิ 119 ล้านบาทในปี 2549 ลดลงจาก 123 ล้านบาทในปี 2548 และสำหรับครึ่งแรกของปี 2550 มีจำนวน 95 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจาก 57 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2549 สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีของกลุ่มทิสโก้ซึ่งรวมทั้งบริษัทด้วย โดยมีการตัดค่าคอมมิชชั่นไปเป็นค่าใช้จ่ายตามอายุของสัญญาแทนที่จะบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวน ณ วันที่อนุมัติสินเชื่อ
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ปี 2549 ทำให้บริษัทไฮเวย์ให้ความสำคัญกับคุณภาพสินเชื่อและลูกค้ามากยิ่งขึ้นโดยเพิ่มความรอบคอบในการอนุมัติสินเชื่อใหม่ ในปี 2550 บริษัทได้เพิ่มสัดส่วนเงินสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้แข็งแกร่งขึ้นตามนโยบายของธนาคารทิสโก้ อัตราส่วนเงินสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 8% ในปี 2549 เป็น 9.2% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2550