กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่สำคัญและยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุข เป็นสาเหตุของการป่วยและตายในหลายๆประเทศทั่วโลก โดยสถานการณ์วัณโรคในเขต 12 จังหวัดสงขลา ปี 2555-2560 ผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทุกประเภทมีแนวโน้มสูงขึ้น จำนวนผู้ป่วยดื้อยาหลายขนาน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อัตราความสำเร็จการรักษาผู้ป่วยวัณโรคสำเร็จลดลง การค้นพบผู้ป่วยรายใหม่ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอช ไอ วี, ผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง, ผู้ต้องขัง และผู้ที่อาศัยร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรค ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา จำนวน 374ราย พบว่า กลุ่มตัวอย่างไม่เคยได้รับข้อมูลข่าวสารร้อยละ 34, กลุ่มตัวอย่างไม่เคยตรวจวัณโรค ร้อยละ 54.8, ไม่ทราบว่าผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงต่อวัณโรค ร้อยละ 54.3 และเคยมีอาการไอเรื้องรังนานเกิน 2 สัปดาห์ ร้อยละ 17.4
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรคสูงกว่ากลุ่มวัยอื่น โดยเชื้อวัณโรคที่เป็นสาเหตุของการป่วยจะเป็นเชื้อที่เคยได้รับมาก่อน อาจนานหลายสิบปีแล้ว และซ่อนตัวอยู่อย่างสงบ เมื่ออายุมากขึ้นภูมิคุ้มกันลดลง เชื้อวัณโรคที่เคยสงบอยู่ก็จะแบ่งตัวลุกลามทำให้ป่วยเป็นวัณโรค ยิ่งหากมีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคขาดสารอาหาร โรคไต โรคมะเร็ง จะยิ่งทำให้ร่างกายอ่อนแอ และเชื้อโรคก็จะเอาชนะภูมิต้านทานได้ง่าย ดังนั้น กลุ่มผู้สูงอายุซึ่งอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการป่วยสูงขึ้น หากพบว่ามีน้ำหนักลดผิดปกติ ร่วมกับมีไข้ต่ำๆ ในตอนบ่ายหรือเจ็บ เจ็บหน้าอก อาจมีอาการไอหรือไม่มีอาการไอร่วมด้วยก็ตาม ควรรีบไปตรวจคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค หรือกรณีที่ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคอื่นๆอยู่แล้ว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ หากมีอาการไอร่วมด้วย ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเมื่อได้รับการตรวจรักษา อย่างไรก็ตาม หากการเข้าถึงการรักษาโดยเร็ว จะช่วยลดความรุนแรงของการเกิดโรค ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น และลดการเสียชีวิตของวัณโรคในผู้สูงอายุได้
"หากประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสูงได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร สร้างการรับรู้ ตื่นตัวในการดูแลสุขภาพ นำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะสมแล้ว จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อวัณโรครายใหม่ลงได้ และยังช่วยให้วัณโรคหมดไปจากประเทศไทย"
เพราะวัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่สำคัญ กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงปัญหานี้มาโดยตลอด จึงได้ดำเนินงานควบคุมวัณโรคโดยต้องอาศัยเครือข่ายการประสานความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยดังกล่าวได้เข้ารับการรักษาให้หายขาด และขอให้ประชาชนร่วมกันตระหนัก ตื่นตัวในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันวัณโรค เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาวัณโรคที่ได้ผล นำไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุดคือเมืองไทยปลอดวัณโรค หากมีข้อสงสัยเกี่ยวหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกับวัณโรคสามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422