กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
เศรษฐกิจไทยเร่งแรงต่อเนื่องในไตรมาสที่สอง
สภาพัฒน์รายงานว่า เศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสที่สองขยายตัวร้อยละ 4.6 จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน หากนับรวมครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัวร้อยละ 4.8 ซึ่งนับว่าสูงมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยืนเหนือร้อยละ 4 ต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อได้ขยับขึ้นมาอยู่ในกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายแล้วนั้น นับว่าเป็นจุดสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะกำลังเตรียมพร้อมและทยอยส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในเวลาอันใกล้นี้
นักลงทุนคาดกนง.พร้อมขยับขึ้นดอกเบี้ยปีนี้
เมื่อดูจากสำรวจความเห็นนักลงทุนและนักวิเคราะห์ต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย พบว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยหนึ่งครั้งภายใน 6 เดือนข้างหน้านี้ โดยทางด้านมหภาคนั้น เศรษฐกิจไทยนับว่าเข้มแข็ง การเติบโตดี ตลาดการเงินมีเสถียรภาพ การว่างงานต่ำ อัตราเงินเฟ้อเริ่มขยับขึ้น ประกอบกับเมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน นักลงทุนย่อมมีพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงและอาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้นาน อาจไม่เป็นผลดีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว นอกจากนี้ ทางธปท. ได้ให้ความเห็นเรื่องการเตรียมความพร้อมในการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย หรือ policy space ซึ่งหมายถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเก็บไว้ใช้ในยามที่เกิดปัญหาในอนาคต เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ร้อยละ 1.50 นี้ หากต้องลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็อาจไม่เพียงพอรับมือกับปัญหาใหญ่ๆ ได้ จึงอาจถึงเวลาต้องทยอยสะสมความสามารถทางการเงินไว้ใช้ในวันที่ไม่คาดฝันในอนาคตได้ แต่ถึงจุดนี้เราต้องกลับมาถามว่า เราพร้อมกับดอกเบี้ยขาขึ้นแล้วหรือ
โมเดลแฝดสยาม
ที่ผ่านมา มีคนจำนวนมากไม่ได้รู้สึกดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยที่เติบโตในระดับสูงอย่างที่เห็น เพราะรายได้หรือสภาวะความเป็นอยู่ของคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น มนุษย์เงินเดือน คนค้าขาย หรือคนในภาคเกษตร ต่างบ่นกันว่าเศรษฐกิจไม่ดี หากดูตัวเลขเศรษฐกิจก็จะเห็นว่า เศรษฐกิจไทยที่โตได้ดีในไตรมาสที่สองมาจากการบริโภคภาคเอกชน ที่เติบโตราวร้อยละ 4.5 แต่ก็ใช่จะเป็นการใช้จ่ายทุกอย่าง เพราะหากแยกออกดูจะพบว่า ส่วนที่โตแรงคือการซื้อรถยนต์หลังหมดมาตรการรถคันแรก และอีกกลุ่มคือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ การขนส่ง ร้านอาหารและโรงแรม ในขณะที่ กลุ่มที่เหลือนั้นเติบโตน้อยมาก เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้า และของใช้อื่นๆ ซึ่งจะเห็นว่า ส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในกลุ่มที่การเติบโตน้อย นอกจากนี้ แม้รายได้ภาคเกษตรจะขยับขึ้นในไตรมาสที่สอง แต่ก็ยังอยู่ในระยะเริ่มฟื้นจากผลผลิตที่ออกมามาก ขณะที่ราคาสินค้ายังหดตัว อีกทั้งคนกลุ่มภาคเกษตรมีหนี้สูง มีผลให้กำลังซื้อยังต่ำ
ในภาพเศรษฐกิจไทยนี้ ผมมองว่าแบ่งเป็นสองขั้ว คือขั้วที่เติบโตได้ดีจากกำลังซื้อที่ยังแข็งแกร่งของคนรายได้ระดับกลางบน-บน กับอีกขั้วที่อ่อนแอ กำลังซื้อต่ำ ภาระหนี้สูงของคนรายได้ระดับกลางล่าง-ล่างนี้ ผมนึกถึงภาพแฝดสยาม อินกับจัน คือทั้งคู่เชื่อมกันด้วยส่วนอก ไปไหนก็ต้องไปด้วยกันเหมือนเป็นคนเดียวกัน แต่แท้จริงแต่จะคนแทบจะแตกต่างเสมือนเป็นคนละคน ลองคิดภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่เสมือนแฝดสยาม เรามีกลุ่มๆ หนึ่งที่แข็งแรง เติบโตได้ดี พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี กับอีกกลุ่มที่อ่อนแอ กำลังซื้อต่ำ รายได้หดตัว แถมขาดทักษะและโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี แต่สุดท้ายเวลาเราพูดถึงเศรษฐกิจไทย เราไม่ได้แยกนับ เรานับรวมทั้งคู่แฝดนี้ ลองพิจารณาส่วนต่างระหว่างการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนกับการเติบโตของรายได้ภาคเกษตรดูก็ได้ ว่าห่างกันที่เท่า
ดอกเบี้ยขาขึ้นภายใต้เศรษฐกิจแฝดสยาม
เมื่อดอกเบี้ยขาขึ้นมีสัญญาณที่ชัดเจนดี หลายสำนักมองว่า กนง.น่าจะขยับดอกเบี้ยได้ภายในปีนี้ ส่วนทางเรามองว่ายังเร็วเกินไป เศรษฐกิจไทยยังไม่กระจายตัวพอ น่าจะรอสักไตรมาสแรกของปีหน้าก่อนค่อยขึ้นดอกเบี้ย เพื่อให้กลุ่มที่เติบโตดีช่วยสร้างงาน ขยายชั่วโมงการทำงาน และให้ราคาสินค้าเกษตรขยับขึ้นก่อน แต่หากทางกนง. จะเลือกขึ้นดอกเบี้ยก่อนสิ้นปี ก็คงเพราะมีสัญญาณด้านมหภาคชัดเจน และต้องส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นเพื่อป้องกันคนลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเกินตัวในช่วงดอกเบี้ยต่ำยาว เพียงแต่เราคงต้องเอาใจช่วยแฝดสยามฝ่ายที่อ่อนแอว่าจะอยู่รอดได้อย่างไร ซึ่งหากเราปล่อยให้ภาคที่อ่อนแอแย่ คนที่แม้จะเข้มแข็งอยู่ก็ไม่อาจอยู่รอดได้
เราอยากแนะให้ประชาชนปรับตัวกับเศรษฐกิจไทยในรูปแบบนี้ ที่คนรายได้สูงโตเร็ว คนรายได้น้อยโตช้า แม้ยังโตทั้งคู่ แต่ช่องว่างจะถ่างขึ้น ถ้าเป็นไปได้ คนระดับล่างน่าจะหางานนอกภาคเกษตร เช่น กลุ่มท่องเที่ยว หรือ บริการอื่นๆ แต่สุดท้ายจะให้สำเร็จ แรงงานต้องมีทักษะ ความชำนาญ ความรู้ด้านภาษา ซึ่งภาครัฐนอกจากจะให้สวัสดิการในรูปของเงิน ซึ่งทำได้เพียงประคองเศรษฐกิจ น่าจะสำรวจเอาคนจนมาพัฒนาฝีมือ หางาน หาตลาดให้ และจะสามารถสร้างรายได้ที่ชัดเจนยั่งยืน
ส่วนการรับมือดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น หากใครมีความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อขยายธุรกิจ ผมว่าจังหวะที่ดอกเบี้ยยังไม่ขยับ การแข่งขันยังไม่แรง และมองอนาคตน่าจะเห็นทั้งสองภาคส่วนของเศรษฐกิจเชื่อมเข้าหากันได้นั้น น่าจะเป็นจังหวะที่ดีในการทำธุรกิจ แต่ต้องเสริมด้วยนวัตกรรม หรือความคิดสร้างสรรค์ เพราะจะแข่งที่ราคาถูกกว่าคู่แข่งคงยาก ส่วนมนุษย์เงินเดือน หรือคนที่มีรายได้ค่อนข้างแน่นอน ผมว่ายังมีโอกาสในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ ผมเป็นห่วงเพียงกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์ของการฟื้นตัวในกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีจะส่งผ่านให้อีกกลุ่มนั้นมีช้า แต่ผมยังเชื่อมั่นว่า ภายใน 6 เดือนเราน่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น และเป็นกำลังใจให้คนที่ยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีว่า ในไม่ช้า ท่านก็จะได้รับแรงส่งทางเศรษฐกิจมาสู่ท่านได้ และหวังว่าท่านจะต้านทานต้นทุนทางการเงินที่จะสูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นได้เช่นกัน