กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของประเทศไทย โดยเนื้อหาในรายงานฉบับดังกล่าวได้ครอบคลุมถึงรูปแบบของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย อัตราการเติบโตของตลาด อัตราดอกเบี้ย ขั้นตอนการฟ้องคดีและบังคับจำนองขายทอดตลาด รวมถึงการดำเนินงานและลูกหนี้สินเชื่อของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
หลังจากได้รับผลกระทบเป็นเวลาหลายปีจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของประเทศไทยได้เริ่มฟื้นตัวในปี 2543 และมีอัตราการเติบโตที่สูงในปี 2546 และ 2547 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ นับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมายอดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยใหม่ในแต่ละปีมีระดับสูงกว่าก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่ายอดสินเชื่อที่ปล่อยใหม่เริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่กลางปี 2548
“อัตราการเติบโตของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ลดลงในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงกลางปี 2548 ถึงปี 2549 รวมถึงราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงและความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย อัตราการเติบโตของสินเชื่อผู้บริโภคประเภทอื่นเช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน” อรวรรณ การุณกรสกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่าย Structured Finance ของฟิทช์กล่าว
ในด้านของการปล่อยสินเชื่อ การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (loan-to-value ratio) โดยเฉลี่ยสำหรับสินเชื่อที่ปล่อยในกรุงเทพฯ ในปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 80%-90% จากระดับ 70%-80% ในปี 2543 ทั้งนี้โดยทั่วไปอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันสำหรับสินเชื่อที่ปล่อยในต่างจังหวัดจะต่ำกว่าสินเชื่อที่ปล่อยในกรุงเทพฯ ในด้านส่วนแบ่งการตลาด ธอส. เป็นผู้นำรายใหญ่ที่สุดในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดที่ประมาณ 40% ณ กลางปี 2550 เพิ่มขึ้นจากระดับ 30% ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจเนื่องจากธนาคารพาณิชย์ได้ลดการปล่อยสินเชื่อหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม คาดว่าส่วนแบ่งการตลาดของ ธอส. จะลดลงในอนาคตเนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้นจากธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2550 ยอดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยคงค้างของประเทศไทยอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท
รายงานเกี่ยวกับตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของประเทศไทย ยังได้กล่าวถึงความเป็นมาของภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งรวมถึงอัตราความเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ (property ownership) ภูมิศาสตร์ประชากร (demographics)
ภาวะเศรษฐกิจ ระดับหนี้ครัวเรือน ตลาดและราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ฟิทช์ยังได้รวมกระบวนการและวิธีจัดอันดับเครดิตของตราสารหนี้ประเภทแปลงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักทรัพย์ (residential mortgage-backed securities หรือ RMBS) ไว้ในรายงานฉบับดังกล่าวอีกด้วย
สำหรับรายงานฉบับสมบูรณ์หาได้จาก www.fitchratings.com ติดต่อ:
นภจักร ผาสุกวานิช/ อรวรรณ การุณกรสกุล/Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759
Stan Ho, ฮ่องกง +852 2263 9668
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน