กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สั่งการให้จังหวัดเสี่ยงภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รับมือสถานการณ์อุทกภัย น้ำล้นตลิ่ง ดินโคลนถล่ม และการระบายน้ำในเขื่อน ในช่วงวันที่ 23 – 27 ส.ค. 61 โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมด้านสรรพกำลังและเครื่องจักรกลสาธารณภัย รวมถึงจัดชุดเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนจัดชุดเคลื่อนที่เร็วประจำพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุและให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที พร้อมแจ้งเตือนประชาชนติดตามข่าวสาร พยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า กอปภ.ก. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสภาวะอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่า ช่วงที่ผ่านมาหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้หลายพื้นที่เกิดอุทกภัย น้ำไหลหลาก และดินโคลนถล่ม กอปรกับประกาศกรมทรัพยากรธรณี ฉบับที่ 13/2561 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2561
ให้เฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก กอปภ.ก.จึงได้สั่งการให้จังหวัดเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด แยกเป็น
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยและน้ำล้นตลิ่ง ประกอบด้วย แม่น้ำน่าน อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ แม่น้ำยม อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย แม่น้ำสงคราม อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ อำเภอกาศอำนวย และอำเภอเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร แม่น้ำห้วยหลวง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี แม่น้ำมูล อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร อำเภอนาแก อำเภอวังยาง และอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม แม่น้ำชี อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร และอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี แม่น้ำโขง บริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี แม่น้ำปรง อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว แม่น้ำตาปี อำเภอเวียงสระ อำเภอพระแสง และอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี คลองละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล คลองบางใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่ม 17 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 7 จังหวัด ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่สะเรียง อำเภอปาย อำเภอสบเมย และอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภออมก๋อย และอำเภอฝาง เชียงราย 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอแม่สรวย อำเภอแม่สาย อำเภอแม่จัน อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเชียงของ อำเภอเทิง อำเภอเวียงแก่น อำเภอป่าแดด อำเภอเชียงแสน และอำเภอขุนตาล พะเยา 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอภูซาง อำเภอปง อำเภอเชียงคำ และอำเภอจุน แพร่ 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสอง น่าน 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเฉลิม พระเกียรติ อำเภอบ่อเกลือ อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอนาน้อย อำเภอนาหมื่น อำเภอเวียงสา อำเภอสองแคว และอำเภอเมืองน่าน และตาก 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง และอำเภออุ้มผาง ภาคกลาง 4 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทองผาภูมิ อำเภอสังขละบุรี และอำเภอไทรโยค เพชรบุรี 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแก่งกระจาน จันทบุรี 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเขาคิชกูฎ และอำเภอมะขาม และตราด 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเกาะช้าง อำเภอบ่อไร่ และอำเภอเขาสมิง ภาคใต้ 6 จังหวัด ประกอบด้วย ชุมพร 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสวี และอำเภอพะโต๊ะ ระนอง 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองระนอง อำเภอกะเปอร์ อำเภอละอุ่น และอำเภอกระบุรี พังงา 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกะปง อำเภอตะกั่ว อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอคุระบุรี และอำเภอท้ายเหมือง ภูเก็ต 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอถลาง อำเภอกระทู้ และอำเภอท้ายเหมือง ตรัง 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังวิเศษ และอำเภอปะเหลียน และสตูล 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทุ่งหว้า และอำเภอควนกาหลง รวมทั้ง ให้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่เพิ่มเติม 11 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ลำพูน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย ปราจีนบุรี สระแก้ว สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และกระบี่
พื้นที่เฝ้าผลกระทบจากการระบายน้ำในเขื่อนระหว่างวันที่ 23 – 27 สิงหาคม 2561 แยกเป็น เขื่อนวชิราลงกรณ 2 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี จำนวน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอไทรโยค อำเภอท่าม่วง อำเภอท่ามะกา อำเภอมะขามเตี้ย และอำเภอเมืองกาญจนบุรี ราชบุรี จำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม และ อำเภอเมืองราชบุรี เขื่อนแก่งกระจาน บริเวณจังหวัดเพชรบุรี 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมืองเพชรบุรี และอำเภอบ้านแหลม
รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวังสถานการณ์ โดยเฉพาะดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลากอย่างใกล้ชิด รวมถึงปริมาณฝนตกสะสมในพื้นที่และการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะที่พื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำ พื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่เดิม และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์มาก ซึ่งต้องทำการระบายน้ำเพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมฉับพลัน สำหรับพื้นที่เสี่ยงคลื่นลมแรง ทั้งนี้ สามารถติดต่อแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป