กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--ปตท.
ในวันนี้ 20 ธันวาคม 2550 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (สร.ปตท.) ได้ขอความร่วมมือจากพนักงาน ปตท. มารวมตัวที่ บริเวณลานเข็มทิศ อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. เพื่อชี้แจงข้อมูลให้เข้าใจเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และประเด็นต่าง ๆ ที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวหา ปตท. ให้เกิดความชัดเจนร่วมกัน มิใช่ต้องการประท้วงหรือสร้างความเดือดร้อนให้สังคม
นายณฐกร แก้วดี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปตท. ชี้แจงว่า นับตั้งแต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวก ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กรณีการแปรรูป ปตท. จนถึงวันที่ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษานั้น การให้ข่าวแก่สาธารณชนตามความเข้าใจของกลุ่มผู้ฟ้องได้กระทำต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ในทางกลับกัน ปตท. ซึ่งขอเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ไม่สามารถชี้แจงต่อสาธารณชนได้โดยสะดวก ด้วยเหตุว่าเราคือหน่วยงานของรัฐ พนักงานมีสำนึกว่า เป็นพนักงานของรัฐ เราต้องเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด และต้องไม่ละเมิดอำนาจศาล เพราะการให้ข่าวโต้ตอบอาจเป็นการชี้นำศาลฯ ซึ่งศาลมีคำสั่งชัดเจนว่าห้ามคู่กรณีให้ข่าว หรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการชี้นำศาล ก่อนการตัดสิน นับเป็นเรื่องที่ทำให้พนักงาน ปตท. โดยเฉพาะสหภาพฯ อึดอัดใจอย่างยิ่ง เพราะ เรารู้จริงว่า ปตท. ทำเพื่อประเทศชาติมาตลอด ไม่ว่าจะก่อนแปรรูป หรือ หลังแปรรูป เรายังคงทำหน้าที่เหมือนเดิม และคำกล่าวหา บวกกับ ข้อมูลที่หยิบยกมาเพียงบางส่วนโดยเฉพาะตัวเลขทางการเงิน การค้า ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับประชาชนโดยทั่วไป ทำให้ผู้ฟังที่ไม่อยู่ในวงการตลาดทุนและธุรกิจพลังงานเข้าใจผิดเชื่อตามเหตุผลที่กลุ่มผู้ฟ้องนึกเอา คิดเอา โดยชี้นำสังคมให้เข้าใจว่า ปตท. ไม่ได้ดำเนินการเพื่อชาติเพื่อแผ่นดินตามภารกิจของเรา ที่เราทำอยู่ทุกวัน
ไม่ว่าจะก่อนแปรรูป หรือ หลังแปรรูป พนักงาน ปตท. ก็ยังเป็นพนักงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐ 100% หรือ จะมีเอกชนถือหุ้นด้วย สหภาพฯ ในฐานะตัวแทนพนักงานยืนยันแทนพนักงานทุกคนว่า จิตสำนึกของเราไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เราทำอย่างไรก็ยังคงทำอย่างนั้น และต้องการให้ผู้คนในสังคมไทย รับรู้ว่า เราทำเพื่อประเทศชาติมาตลอด ถ้าทุกวันนี้ไม่มี ปตท. น้ำมันจะต้องแพงกว่านี้มาก ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ การกำหนดราคาน้ำมัน ราคาก๊าซ ยังคงใช้สูตรเดิมเหมือนกับก่อนแปรรูป โดยยังคงมีภาครัฐติดตามดูแลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ที่ผ่านมา ปตท. เคยทำหน้าที่ถ่วงดุลราคา ตรึงราคาน้ำมันอย่างไร กำหนดราคาขายก๊าซอย่างไร แม้ว่าแปรรูปแล้ว เราก็ยังคงทำตามวิธีการเดิมไม่เคยเปลี่ยน เพราะเราคือบริษัทพลังงานแห่งชาติ และผู้ถือหุ้นก็ให้การสนับสนุนและไม่เคยสงสัยหรือขัดแย้งที่เรายังคงทำหน้าที่เช่นเดิม
ทุกวันนี้กำไรจากที่เพิ่มขึ้นจากการทำธุรกิจ มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ ปตท. แปรรูป โดยมีการแปลงทุนเป็นหุ้น จึง สามารถระดมทุนโดยการขายหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้นการระดมเงินทำได้ยาก ต่างชาติไม่มีใครอยากให้ประเทศไทยกู้ และตั้งแต่นั้นมา ปตท. จึงมีเงินลงทุนเพียงพอ มีเครดิต มีการบริหารที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีเงินมาพัฒนาให้พนักงานมีความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่องให้เป็นมืออาชีพ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ เพิ่มผลผลิต มีเงินไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้บริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจปิโตรเลียมในประเทศไทย เท่ากับช่วยปกป้องไม่ให้บริษัทเหล่านั้นต้องตกไปเป็นของเจ้าหนี้ต่างชาติ และจนปัจจุบัน ปตท. ก็ มีความสามารถในการเป็นคู่แข่งกับต่างชาติอย่างสมศักดิ์ศรี ซึ่งหากมองอีกมุมหากผู้ไม่หวังดีต้องการทำลายชาติ ไม่ให้มีความมั่นคงด้านพลังงาน ปตท. ก็คือเป้าหมายสำคัญที่สุดที่ต้องบ่อนทำลาย มิให้มีความก้าวหน้า สำหรับรายได้และผลกำไรของ ปตท. เมื่อเทียบสัดส่วนกับธุรกิจพลังงานประเทศเพื่อนบ้าน แล้วก็ไม่ได้เกินเลย หรือ สร้างความร่ำรวยอย่างมากมายแก่ผู้ถือหุ้น จากการ ขายน้ำมันแพงและขายก๊าซแพง ให้ประชาชนคนไทย อย่างที่กลุ่มผู้ฟ้องเข้าใจ และพยายามชี้นำสังคมให้เข้าใจผิดไปด้วย
ความมั่นคงของ ปตท. กำไรที่ได้ ก็ไม่ได้สร้างความร่ำรวยให้เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ กระทรวงการคลัง ได้รับเงินปันผลมากที่สุด และ รัฐยังได้รายได้ในรูปแบบของภาษีด้วย สำหรับการแบ่งเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นอื่นซึ่งนำเงินมาร่วมลงทุน เป็นเรื่องชอบธรรม เพราะหากไม่ได้กระจายหุ้น ปตท. ก็ต้องไปกู้ต่างชาติซึ่ง ปตท. ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ต่างชาติอยู่ดี ส่วนกรณีที่ตระกูลนักการเมืองบางคน ได้หุ้น ปตท. ก็ได้ในฐานะนักลงทุนที่เป็นลูกค้าชั้นดีของโบรกเกอร์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมดแล้ว ไม่ถึง 1% ซึ่งเป็นจำนวนน้อยมาก อีกทั้งการถือหุ้น ก็มีการเปลี่ยนมือกันไป มีการกำกับดูแลมิให้ต่างชาติมาถือครองเกินกำหนด และมีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างโปร่งใส
ผู้ฟ้องกล่าวหาว่า อาจมีการกระทำที่ไม่ชอบ เพราะ มีการให้หุ้นราคาพาร์ 10 บาท แก่ พนักงาน และผู้บริหาร ตามกติกาองค์กร ก็เป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะ การทำเช่นนี้เป็นกติกาสากล และเป็นสิ่งที่บริษัทชั้นนำของโลกปฏิบัติ เพื่อจูงใจการทำงานของพนักงาน ทั้งนี้หุ้นที่พนักงานได้ พนักงานจะต้องถือไว้โดยยังไม่สามารถขายได้ในช่วงเวลาที่กำหนด 3 ปี โดยจะจัดออกมาให้มีสิทธิซื้อขายได้เพียงปีละหนึ่งในสามของสิทธิที่ได้รับเท่านั้น และในปีแรกก็ไม่มีการจัดสรรให้ ต้องรอจนครบ 1 ปีเสียก่อน
อีกประการหนึ่งเกี่ยวกับหุ้น ที่ ปตท. สามารถขายหุ้นหมดภายในเวลาอันรวดเร็ว จนกระทั่งรายย่อยหลายคนไม่สามารถจองซื้อได้ สาเหตุที่เกิดขึ้นก็เพราะ ปตท. ต้องเตรียมการอย่างมืออาชีพ ต้องขายให้ได้หมดตามราคาที่กำหนด เพราะเวลานั้นเศรษฐกิจยังซบเซาอยู่ และเพิ่งเกิดเรื่องตึก World Trade ถล่ม ซึ่งเป็นเหตุการณ์เลวร้ายระดับโลก สำหรับการประเมินมูลค่ากิจการ และการกำหนดราคาหุ้น IPO ก็เป็นวิธีการที่ทั่วโลกยอมรับ ซึ่งมีหลักการ อธิบายได้ มีความเหมาะสมกับสภาพของ ปตท. ในขณะนั้น ที่บริษัทในเครือเกือบทุกแห่งมีหนี้สินมากกว่าทุน ทั้งนี้ หาก นักลงทุนต้องการลงทุนซื้อหุ้น ปตท.จริง ก็สามารถเข้ามาซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้ในราคาต่ำกว่าราคา IPO ด้วยซ้ำ เนื่องจากหลังจากหุ้น ปตท.เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ราคาหุ้น ปตท.เคลื่อนไหวอยู่ในระดับราคาใกล้เคียงราคา IPO เป็นเวลาถึง 9 เดือน และยังเคยลงต่ำสุดที่ 29 บาทต่อหุ้น แต่ก็ไม่มีใครสนใจ ดังนั้น จึงเป็นเครื่องยืนยันได้อีกทางหนึ่งว่าการประเมินมูลค่ากิจการและการกำหนดราคาหุ้น IPO ของ ปตท.มีความเหมาะสม เพราะหากกำหนดราคา IPO ต่ำเกินไป นักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนย่อมต้องเข้ามาไล่ซื้อหุ้น ปตท.ในตลาด ทำให้ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นกว่าราคา IPO อย่างแน่นอน
เกี่ยวกับราคาหุ้น ที่ถูกกล่าวหาว่า เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เพราะ ในปีต่อมานำเอาระบบท่อมารวมไว้ ก็ไม่เป็นความจริง ความจริงคือ ปตท. มีระบบท่ออยู่ในครอบครองตั้งแต่ก่อนแปรรูปแล้ว โดย ปตท. ใช้เงินลงทุนสร้างท่อ จากรายได้ตนเองส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นการกู้เงินมาจากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ เช่น การออกพันธบัตรและเงินกู้ World Bank เป็นต้น โดยมีรัฐค้ำประกันเพราะรัฐเป็นเจ้าของ 100% แต่ภาครัฐก็ไม่เคยเดือดร้อน เพราะรัฐไม่ต้องนำเงินรัฐมาดำเนินการหรือให้ความช่วยเหลือ ปตท.ในการชำระคืนเงินกู้และดอกเบี้ย ดังนั้นเมื่อรัฐต้องการเงินทุน และสนับสนุนให้ ปตท. แปรรูป ปตท. จึงได้รับโอนทรัพย์สินต่างๆ รวมทั้งหนี้สินทั้งหมดมาตามผลของกฎหมาย โดยในส่วนของหนี้สิน นับแสนล้านบาท ปตท. ก็ยังต้องรับผิดชอบเป็นผู้จ่ายคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจนครบต่อไป โดยภาครัฐเองก็หมดภาระไม่ต้องค้ำประกันหนี้ของ ปตท. อีกต่อไป ซึ่งภาครัฐก็ร่วมรับรู้ ร่วมตัดสินใจ ในการประเมินมูลค่ากิจการ เพื่อกำหนดราคาหุ้น IPO ซึ่งก็ได้รวมมูลค่ากิจการท่อไว้แล้ว
ส่วนกรณีการโอนสาธารณะสมบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ปตท.ก็พร้อมปฏิบัติตาม การที่ผู้ฟ้องเข้าใจว่า ปตท. โกงสาธารณสมบัติไว้ใช้ประโยชน์ และผู้ฟ้องได้รับชัยชนะจากการทวงคืน จึงเป็นสิ่งที่พนักงาน ปตท. ทุกคนรู้ดีว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ที่ไม่ถูกต้องอย่างสิ้นเชิง
ในการแปลงสภาพจาก การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สหภาพฯ ซึ่งเป็นผู้แทนพนักงาน ปตท. มิได้นิ่งนอนใจ หรือ ต่อรองแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวตามที่ถูกกล่าวหา พนักงานใส่ใจเรื่องการแปรรูปเป็นอย่างยิ่ง ช่วยกันสอบถามความจำเป็นในการแปรรูป แสดงความเห็น โดยมีการศึกษาข้อมูลการคัดค้านแปรรูปรัฐวิสาหกิจจากมูลนิธิแรงงานของต่างชาติ จากนักธุรกิจภายนอก ศึกษา ผลดี ผลเสีย จากประเทศที่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปแล้ว รวมทั้งความเห็นของเพื่อนกลุ่มรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เปรียบเทียบกับข้อมูลสนับสนุนการแปรรูปจากรัฐ ศึกษาข้อมูล ปตท. ที่เห็นชอบกับการแปรรูป ข้อมูลการเงินขององค์กร ณ ขณะนั้น ศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงเข้าใจและเห็นด้วยว่า การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ต้องแปลงสภาพเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพราะเป็นทางออกที่จะทำให้องค์กรอยู่รอด ประเทศชาติมีความมั่นคงด้านพลังงาน อีกทั้งในกระบวนการที่นำไปสู่การแปรรูป สหภาพฯ และ ผู้แทนพนักงาน ได้ร่วมรับรู้ในคณะทำงานแปรรูป ปตท. รวมถึง คณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่ดี นอกเหนือจากการเป็นผู้แทนพนักงานในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง ตามที่ พรบ.ทุนฯ กำหนดไว้ จึงได้รับทราบทุกขั้นตอน และเชื่อมั่นในการดำเนินการบนความถูกต้องมาโดยตลอด ซึ่งวันนี้สังคมก็ทราบแล้วว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ตัดสินว่า ปตท. ดำเนินการแปรรูป อย่างถูกต้องแล้ว ไม่ต้องถูกเพิกถอนตามที่กลุ่มผู้ฟ้องเสนอ
เมื่อ พนักงาน ปตท. เชื่อว่า ทางออกที่จะช่วยองค์กรให้มีความมั่นคง เพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของชาติ ซึ่งแน่นอน พนักงาน ปตท. จำเป็นต้องเสียสละ และยอมรับการเปลี่ยนแปลง ต้องเสียสละเวลาในการทำงานมากขึ้น เพราะมีข้อจำกัดในการเพิ่มอัตรากำลัง ในขณะที่มีภารกิจเพิ่ม และมีเป้าหมายที่ต้องแข่งขันกับธุรกิจต่างประเทศ รวมทั้งมีตัวชี้วัดเทียบเท่าบริษัทชั้นนำอื่นๆ
ข้อมูลก่อนการแปรรูป ที่เชื่อได้ว่า ปตท. มีหนี้สินรวมต่อทุน มากถึง 6.7 : 1 (แม้ว่ากลุ่มผู้ฟ้องเข้าใจว่า มีการตีราคาทรัพย์สินไม่ถูกต้อง แต่ความจริงก็คือความจริง ข้อมูลเหล่านี้ ตรวจสอบได้) ปัญหาหนี้สินต่อทุนที่ค่อนข้างสูง จนหากจะต้องการขยายการลงทุน ก็เป็นเรื่องลำบาก โอกาสที่จะช่วยเหลือธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีในประเทศไทย ที่ส่วนใหญ่มีเจ้าหนี้ต่างชาติ เพื่อไม่ให้ต่างชาติยึดไปในราคาถูกๆ ยิ่งไม่มีทางทำได้ สภาพที่ไม่มีเครดิตที่จะกู้เพิ่มของธุรกิจเอกชน อีกทั้งการเป็นหนี้ IMF ทำให้รัฐไม่มีเงินช่วยเหลือ ในขณะเดียวกันการเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน และเป็นบริษัทพลังงานของชาติ ปตท. ต้องช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจอื่นที่มีหน้าที่เพื่อสวัสดิการแก่ประชาชนจนทำให้ต้องประสบปัญหาขาดทุน ไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำมันให้กับ ปตท. ในขณะที่ ปตท. ต้องไปซื้อจากต่างชาติ เพราะเราผลิตเองในประเทศได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ อย่างนี้แล้วหนทางที่จะทำให้องค์กรของรัฐที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงาน จะมีความมั่นคงและสู้กับธุรกิจข้ามชาติ ซึ่งเคยครอบงำโครงสร้างธุรกิจปิโตรเลียมของประเทศไทยในอดีตได้อย่างไร ที่สำคัญคงไม่มีทางคิดที่จะขยายการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพราะการจัดการ และเทคโนโลยีด้านนี้ต้องใช้งบประมาณสูง
พนักงาน ปตท. จึงตัดสินใจสนับสนุนให้ ปตท. แปรรูป โดยใช้ พรบ.ทุนฯ เพื่อให้ ปตท. สามารถแปลงทุนเป็นหุ้น และนำเงินทุนที่ได้รับมาดำเนินการให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะการคัดค้านมิให้มีการเดินหน้า อาจทำให้ ปตท. หยุดการเจริญเติบโต หรือต้องล่มสลาย ขาดทุน ไม่สามารถช่วยตัวเอง หรือ ช่วยใครได้ จนกระทั่งประเทศไทยก็จะต้องกลับไปมีสภาพการขาดแคลนพลังงาน และถูกครอบงำกิจการปิโตรเลียมจากต่างชาติเช่นในอดีต ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เป็นความเจ็บปวดของคนไทยในยุคที่ผ่านมานานกว่า 30 ปี จึงเชื่อว่าหลายคนไม่เคยรับรู้ หรือ หลายคนก็อาจไม่เชื่อ เพราะคิดว่ารัฐวิสาหกิจสามารถทำอะไรก็ได้ ขาดทุนก็ได้ เพราะอย่างไรเสียรัฐก็มีรายได้ที่จะโอบอุ้มทุกอย่าง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมหันต์ และเป็นความเข้าใจที่บ่อนทำลายชาติโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
นายณฐกร ฯ. กล่าวสรุปว่า ที่ทุกคนมารวมตัวกันในวันนี้ ทุกคนต้องการแสดงจุดยืนเพื่อให้เห็นว่าการแปรรูป ปตท. นั้นโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย และที่ผ่านมาพนักงาน ปตท. ทุ่มเททำงานหนัก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และรักษาผลประโยชน์บริสุทธิ์อย่างแท้จริงของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของชาติ และประชาชนคนไทยทุกคน ดังนั้นเราทุกคนต้องการกำลังใจ และความเข้าใจที่ถูกต้องจากประชาชนที่รักความเป็นธรรม นับแต่นี้ต่อไป หากพบว่ามีการบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือละเมิดอำนาจศาล หรือทำการ ใดใดที่ละเมิดกฎหมาย เป็นการบ่อนทำลายภาพลักษณ์ ปตท. สหภาพฯ จะดำเนินคดีทุกรูปแบบ