กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--ดีซี คอนซัลแทนส์
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จัดโครงการค่ายเยาวชน PTTEP Teenergy ปีที่ 5 เริ่มค่ายแรกที่ภาคใต้ นำเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 70 คน จาก 13 จังหวัดภาคใต้ ร่วมเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล พร้อมเวิร์คชอปจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้เยาวชนพัฒนาโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด "เปลี่ยนเพื่อโลก (Change for Climate)" ณ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคม 2561
PTTEP Teenergy ปีที่ 5 ภาคใต้ จัดขึ้นโดยความร่วมมือของ ปตท.สผ. กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล การเพาะฟักลูกปูและระบบนิเวศป่าชายเลน ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยเยาวชนจะได้ลงมือปลูกป่าชายเลน ร่วมเก็บขยะชายหาดบ้านเลเพื่อเรียนรู้การทำงานเพื่อสังคม ไฮไลท์สำคัญคือ จะได้รับความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยียางและโพลิเมอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (กลุ่มทะเลจร) และชำนาญ มานิล ปราชญ์ชุมชน ด้าน "การเพาะฟักลูกปู" ซึ่งจะมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้แก่น้องๆ เยาวชน
นอกจากนั้น จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมสีเขียวจากกิจกรรม "แตะจากเล" ซึ่งเป็นรองเท้าที่ผลิตจากขยะทะเลเพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชน นำไปเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาโครงการเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเองด้วย และยังมีโอกาสพิเศษได้เข้าเยี่ยมชมโครงการฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม ปตท.สผ. เพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมด้วย
โครงการ PTTEP Teenergy ปีที่ 5 นี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "เปลี่ยนเพื่อโลก (Change for Climate)" ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่ทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะโลกร้อน โดยเยาวชนจาก 4 ภาค ทั้ง ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน ที่ได้รับคัดเลือกจะได้ร่วมกิจกรรมค่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนเองเป็น 3 วัน 2 คืน เพื่อให้เยาวชนนำความรู้ที่ได้จากการเข้าค่ายไปปรับใช้ในการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชนโดย ปตท.สผ. จะมอบทุนจำนวน 10 ทุน รวม 100,000 บาท แก่เยาวชนที่ผ่านการอบรมและชนะการประกวดโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในค่าย เพื่อให้นำงบประมาณไปจัดทำโครงการในโรงเรียนหรือชุมชนของตนเองต่อไป
นางประณต ติราศัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกิจการองค์กรและกำกับการปฏิบัติตามนโยบาย ปตท.สผ. กล่าวว่า "โครงการ PTTEP Teenergy ในปีที่ 5 นี้ ปตท.สผ. ได้เพิ่มความพิเศษด้วยการมุ่งเน้นให้เยาวชนได้เรียนรู้ด้วยแนวคิด STEM หรือที่เรียกว่า 'สเต็มศึกษา' ซึ่งเป็นแนวการสอนแบบใหม่มาปรับใช้กับกิจกรรมค่าย ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมมาบูรณาการ เพื่อให้เยาวชนนำความรู้ในทุกแขนงวิชามาพัฒนาเป็นองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อวิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว และสร้างสรรค์ผลงานหรือโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้จริง โดยมีพนักงานจิตอาสาของ ปตท.สผ. ร่วมเป็นพี่เลี้ยงในค่ายด้วย" นางประณตกล่าว
สำหรับกิจกรรมค่าย PTTEP Teenegy ปีที่ 5 ครั้งต่อไป จะจัดขึ้นที่ภาคเหนือระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 2 กันยายน 2561 ณ สวนป่าเขากระยาง จังหวัดพิษณุโลก โดยกิจกรรมไฮไลท์ที่น้อง ๆ จะได้เรียนรู้คือ การผลิต "โปสการ์ดมีชีวิต" ซึ่งเป็นนวัตกรรมการจัดการวัชพืชที่เหลือจากการเกษตร (ฟางข้าว) มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ โดยเป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างคุณค่าแก่เศษวัสดุ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ติดตามความก้าวหน้าโครงการ PTTEP Teenergy ได้ที่เฟซบุ๊ค PTTEP Teenergy Camp
เกี่ยวกับโครงการ PTTEP Teenergy
ปตท.สผ. ได้ริเริ่มโครงการ PTTEP Teenergy ในรูปแบบค่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2557 โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงานร่วมคัดเลือกเยาวชน จากบทความเกี่ยวกับแรงบันดาลใจและแนวคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่เยาวชนเขียนตามขั้นตอนการรับสมัคร ปัจจุบัน มีเยาวชนที่ผ่านการอบรมในโครงการไปแล้วกว่า 500 คน มีโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนที่เยาวชนนำไปดำเนินการจริงกว่า 20 โครงการ เยาวชนหลายคนกลายเป็นแกนนำของกลุ่มอนุรักษ์ในโรงเรียน ทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้ สร้างเครือข่ายอนุรักษ์และจัดกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียนและชุมชน สามารสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์อีกกว่า 16,000 คน เพื่อเป็นแนวร่วมอนุรักษ์ ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่ชุมชนและประเทศชาติในอนาคต
โครงการ PTTEP Teenergy ดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ 3 ป. คือ ปลูก-ปั้น-เปลี่ยน โดยเชื่อมั่นว่า การปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างโอกาสในการเรียนรู้นอกห้องเรียน รวมถึงการปั้นเยาวชนให้มีความรู้สู่การหล่อหลอมหัวใจอนุรักษ์ และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเยาวชนให้มีความพร้อมในการทำประโยชน์ให้กับสังคม จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเยาวชนในการก้าวออกไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนและสังคมดีขึ้น ด้วยการรวมพลังความคิดและลงมือทำกิจกรรมหรือโครงการเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวคิด "นวัตกรรมสีเขียว" ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของค่ายไปต่อยอดดำเนินการในพื้นที่ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ