ฟิทช์ ประเทศไทยคงอันดับเครดิตของตราสารหนี้ค้ำประกันของบริษัท ไพรมัส ลีสซิ่ง

ข่าวทั่วไป Friday December 21, 2007 12:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ของหุ้นกู้ค้ำประกันภายใต้ Medium-Term Note Programmes ที่ออกโดยบริษัทไพรมัส ลีสซิ่ง จำกัด (“ไพรมัส”) ที่ระดับ ‘BB+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตยังคงเป็นลบ ไพรมัสเป็นบริษัทย่อยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยของ ฟอร์ด เครดิต แห่งสหรัฐอเมริกา โดยฟอร์ด เครดิตยังเป็นผู้ค้ำประกันตราสารหนี้ของไพรมัส
อันดับเครดิตภายในประเทศของตราสารหนี้ค้ำประกันที่ออกโดยไพรมัสมีพื้นฐานมาจากการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขและเต็มจำนวนจาก ฟอร์ด เครดิต และความน่าเชื่อถือของ ฟอร์ด และ ฟอร์ด เครดิต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของไพรมัส บริษัททั้งสองนี้ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา ฟอร์ด และ ฟอร์ด เครดิต ได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว IDR ที่ระดับ ‘B’ โดยแนวโน้มเครดิตของบริษัททั้งสองยังคงเป็นลบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้มีการปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศของตราสารหนี้ค้ำประกันของไพรมัสได้ โดยทั่วไปแล้ว แนวโน้มอันดับเครดิตจะบ่งชี้ถึงทิศทางการปรับอันดับเครดิตที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 1 — 2 ปีข้างหน้า
ในฐานะที่เป็นบริษัทสนับสนุนการให้สินเชื่อของรถยนต์ที่จำหน่ายในประเทศของฟอร์ด ไพรมัสนับว่ามีความสำคัญต่อการดำเนินงานของฟอร์ดในประเทศไทย ในช่วงปี 2549 ยอดสินเชื่อเช่าซื้อของไพรมัสลดลง 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีสาเหตุมาจากยอดขายของตลาดรถยนต์ในประเทศที่ซบเซาลงและส่วนแบ่งทางการตลาดของกลุ่มฟอร์ดที่ลดลงอันเป็นผลจากการแข่งขันที่รุนแรงจากบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น นอกจากนี้ ความสามารถในสร้างผลกำไรในส่วนของธุรกิจเช่าซื้อโดยเฉลี่ยของบริษัทยังลดลงอันเป็นผลจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น คุณภาพสินทรัพย์ของไพรมัสยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งโดยอัตราส่วนยอดรวมสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้สูญตัดบัญชีต่อยอดสินเชื่อทั้งหมดลดลงมาที่ระดับ 0.8% ในปี 2549 จากประมาณ 1% ในปี 2548 ซึ่งเป็นผลจากความระมัดระวังในการให้สินเชื่อ ระดับสำรองหนี้สูญของบริษัทอยู่ที่ระดับ 3.6 เท่าของยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ สิ้นปี 2549 อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นยังคงอยู่ในระดับที่สูง ถึงแม้ว่าอัตราส่วนนี้จะลดลงมาจาก 19.4 เท่า ณ สิ้นปี 2547 เป็น 11.2 เท่า ณ สิ้นปี 2549 เป็นผลจากการชะลอตัวลงของการปล่อยสินเชื่อของไพรมัส อย่างไรก็ตาม ความกังวลของฟิทช์เกี่ยวกับอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่สูงของบริษัทถูกลดทอนด้วยการค้ำประกันหุ้นกู้ของฟอร์ด เครดิต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ