กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--สวทช.
อาการนอนไม่หลับเป็นอาการที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพกับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะในวัยผู้สูงอายุ และวัยทำงาน ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากความเครียด ความกังวล ผลจากปัญหาของระบบย่อยอาหาร ผลจากโรคบางชนิด เช่น โรคหัวใจ หรือแม้แต่อาหารการกิน และยาบางชนิดที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่งผลให้นอนไม่หลับเช่นกัน รวมทั้งเกิดจากระดับฮอร์โมนในร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นในกรณีของผู้สูงอายุที่พบว่าระดับฮอร์โมนที่ช่วยการนอนหลับ ที่เรียกว่า ‘เมลาโทนิน’ (melatonin) มีระดับลดลง ทำให้ผู้สูงอายุนอนหลับได้ไม่ดีนัก ซึ่งอาการนอนไม่หลับจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของบุคคลนั้นลดลง เกิดอาการอ่อนเพลีย ระบบประสาทเฉื่อยชา ขาดความกระฉับกระเฉง และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ จนบางคนต้องหันไปพึ่งยานอนหลับที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท แต่เป็นการนอนที่ด้อยคุณภาพ และมักมีผลข้างเคียงตามมา
บริษัท แดรี่โฮม จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมสดพาสเจอร์ไรส์ โยเกิร์ตและไอศกรีม ซึ่งเป็นนมที่ผลิตจากธรรมชาติปราศจากสารเคมี หรือ ออร์แกนิค ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ภายใต้การสนับสนุนของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ดำเนินการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นมที่มีระดับสารเมลาโทนินธรรมชาติสูง ออกจำหน่ายเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ต้องการบริโภคเมลาโทนินจากธรรมชาติ
ทั้งนี้ตามธรรมชาติสารเมลาโทนินดังกล่าว เป็นสารที่มีอยู่แล้วร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และจากรายงานทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่ระบุว่า หากมีเมลาโทนินในปริมาณสูงขึ้นจะช่วยให้การนอนมีคุณภาพ หลับสบาย นอกจากจะกระตุ้นให้ร่างกายทำงานดีขึ้นแล้ว ยังช่วยชะลอความแก่และป้องกันความเหี่ยวย่นของร่างกาย รวมไปถึงโรคร้ายอื่นๆ อีกด้วย
นายพฤฒิ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด จึงมีแนวคิดที่จะให้แม่วัวสร้างสารเมลาโทนินตามธรรมชาติให้สูงขึ้น ประกอบกับบริษัทเน้นการผลิตนมที่มีคุณภาพจากธรรมชาติอยู่แล้ว ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีผู้ใดผลิต จึงได้หาข้อมูลและนำมาทดลองทำเองโดยไม่ผ่านการวิจัยซึ่งพบว่าได้ผลระดับหนึ่ง ดังนั้นเพื่อความมั่นใจจึงต้องการผลการวิจัยเข้ามาช่วยยืนยันว่าผลิตภัณฑ์นมที่บริษัทคิดขึ้นนี้จะช่วยให้นอนหลับได้จริง โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการทางเคมีหรือเติมสารสังเคราะห์แต่อย่างใด
นายพฤฒิ กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ บริษัทได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากเครือข่าย iTAP มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส) โดยได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย 2 ท่าน เข้ามาเป็นที่ปรึกษา ประกอบด้วย ผศ.ดร.ศิวัฒ ไทยอุดม ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอาหารและผลิตภัณฑ์นม สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และ ผศ.สพ.ญ.ดร.ศจีรา คุปพิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมน และสรีรวิทยาระบบสืบพันธุ์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มาช่วยในการวิจัยเป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง
นายพฤฒิ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ได้รับนอกจากผลการวิเคราะห์ที่ยืนยันได้ชัดเจนจากห้องแล็บแล้ว ยังนำไปสู่การปรับปรุงกรรมวิธีการผลิตของบริษัททำให้ผลิตภัณฑ์นมมีคุณภาพดียิ่งขึ้น โดยบริษัทไม่ต้องลงทุนเพิ่มในเรื่องของเครื่องจักรในกระบวนการผลิตแต่อย่างใด สำหรับผลิตภัณฑ์นมชนิดนี้ เรียกว่า “ นมก่อนนอน หรือ เบดไทม์มิลค์ (Bedtime Milk) ” เป็นนมที่มีระดับเมลาโทนินธรรมชาติสูงเพียงพอ ( ตามที่ได้มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ไว้ในต่างประเทศ ) ที่จะช่วยให้นอนหลับสนิทสามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ สมองได้รับการผ่อนคลายจากความเครียด และยังมีไขมันต่ำเพียง 1 ใน 3 ของนมปกติสามารถดื่มได้ทุกวันก่อนนอน ซึ่งจะช่วยให้นอนหลับอย่างมีคุณภาพตลอดทั้งคืน โดยบริษัทได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรกรรมวิธีการเพิ่มเมลาโทนินในน้ำนมนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการยื่นขอจดทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
สำหรับขั้นตอนการทดลองแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1. การเก็บน้ำนมส่งห้องปฏิบัติการทดลอง 2. ส่วนการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารเมลาโทนินในน้ำนม โดยใช้การตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ต่างกัน 2 ประเภท เพื่อเป็นการศึกษาหาวิธีการตรวจวิเคราะห์ที่เหมาะสมและเป็นการยืนยันผลที่ได้จากการทดลองทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว ซึ่งผลวิเคราะห์ที่ได้พบว่า มีเทคนิคเฉพาะที่จะสามารถตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารเมลาโทนินได้อย่างแม่นยำ
ผศ.ดร.ศิวัฒ ไทยอุดม และ ผศ.สพ.ญ.ดร.ศจีรา คุปพิทยานันท์ ในฐานะผู้วิจัย กล่าวเสริมว่า กรรมวิธีที่ช่วยเพิ่มเมลาโทนินในน้ำนมวัวนั้น ไม่ได้เกิดจากการให้สารเมลาโทนินสังเคราะห์เสริม หรือเกิดจากกระบวนการผลิตในโรงงาน แต่เป็นการใช้ช่วงเวลาที่เหมาะสมทำให้แม่วัวผลิตสารเมลาโทนินได้มากขึ้น ซึ่งคณะผู้วิจัยรู้สึกภูมิใจกับผลงานวิจัยชิ้นนี้ที่สามารถช่วยสานฝันให้กับผู้ประกอบการได้เป็นจริงขึ้นมาจากผลการพิสูนจ์ทางวิทยาศาสตร์ขณะเดียวกันยังได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
ด้าน ดร.พงษ์ชัย จิตตะมัย ผู้จัดการเครือข่าย iTAP มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ( มทส ) กล่าวว่า โครงการนี้มีประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการสามารถตอบโจทย์ให้กับตัวเองได้ ผู้เชี่ยวชาญได้องค์ความรู้ใหม่ และยังได้ผลิตนักวิจัยเพิ่มขึ้นจากโจทย์ของผู้ประกอบการ ขณะที่มหาวิทยาลัยฯในฐานะสถาบันการศึกษาก็มีส่วนทำประโยชน์ในการนำความรู้ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยไปสู่สังคม ไปสู่ผู้ประกอบการ และไปสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยมี iTAP เข้าไปช่วยสนับสนุนและประสานให้ความสะดวกแก่ทุกฝ่าย
นอกจากนี้ยังมองว่า ธุรกิจนมพาสเจอร์ไรส์ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่กำลังมาแรงในตลาดโดยเฉพาะกลุ่มตลาดผู้รักสุขภาพและธรรมชาติที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่า iTAP น่าจะมีโอกาสเข้าไปให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนแก่ผู้ผลิตอาหารทางด้านออร์แกนิกมากขึ้น เช่นเดียวกับบริษัท แดรี่โฮม นอกจากจะจัดหาผู้เชี่ยวชาญแล้ว iTAP ยังให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการถึงร้อยละ 50 ของงบประมาณโครงการ