กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) (UOBT; ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นธนาคารเอเชีย) ดังต่อไปนี้: อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) ที่ ‘A-’ (A ลบ) แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C/D’ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘1’ อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’
อันดับเครดิตของ UOBT มีพื้นฐานมาจากการที่ United Overseas Bank ของสิงคโปร์ (“UOB” ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศที่ ‘AA-’(AA ลบ)) ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นซึ่งมีอำนาจในการบริหารธนาคาร ถึงแม้ว่าข้อจำกัดในการถือหุ้นของต่างชาติอาจจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ UOB ลดลงหลังจากปี 2551 ผลกระทบดังกล่าวจะถูกลดทอนลงจากความแข็งแกร่งของฐานเงินทุนของ UOBT ที่เพิ่มขึ้นให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการขยายธุรกิจในระยะยาว ซึ่งจะช่วยจำกัดการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน UOBT ของ UOB ให้น้อยที่สุด เมื่อพิจารณาถึงชื่อเสียงและทรัพยากรของ UOB รวมทั้งชื่อของ UOBT ที่ใกล้เคียงกับบริษัทแม่ของธนาคาร ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ UOBT จะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่อย่าง UOB ในกรณีที่มีความจำเป็น การเปลี่ยนแปลงใดๆในการถือหุ้นของ UOB รวมทั้งข้อผูกพันและการสนับสนุนของธนาคารที่มีต่อ UOBT ย่อมส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลและอันดับเครดิตภายในประเทศของ UOBT
UOBT รายงานผลขาดทุนสุทธิที่ 521.7 ล้านบาท สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2550 ลดลงอย่างมากจาก ผลกำไรสุทธิ 1.3 พันล้านบาท สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2549 โดยมีสาเหตุหลักมาจากหลักเกณฑ์การกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เข้มงวดขึ้นตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศฉบับที่ 39 (IAS 39) รวมถึงผลขาดทุนจากการขายลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และต้นทุนการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น รายได้จากดอกเบี้ยยังคงที่ในระดับเดิมเนื่องจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ค่อนข้างต่ำ ผลประกอบการของธนาคารน่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2551 จากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นและจากงบดุลของธนาคารที่ดีขึ้น อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ UOBT มีแนวโน้มดีขึ้นจากผลกำไรที่คาดว่าจะดีขึ้นและการเติบโตของธนาคารในอีก 1 ถึง 2 ปีข้างหน้า
หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงสู่ระดับ 7.9 พันล้านบาท หรือ 5.5% ของสินเชื่อทั้งหมด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 จาก 18.9 พันล้านบาท (12%ของสินเชื่อทั้งหมด) ณ สิ้นปี 2549 เนื่องจากธนาคารได้จำหน่ายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 1 หมื่นล้านบาท ระดับการกันสำรองหนี้สูญอยู่ที่ 5.3 พันล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับ 67.1% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งจัดว่าเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับธนาคารไทยอื่น ฐานะเงินกองทุนของ UOBT จัดได้ว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารอยู่ที่ 16.1% ของสินทรัพย์เสี่ยง (RWA) และเงินกองทุนทั้งหมดของธนาคารอยู่ที่ 17.5% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 การปรับโครงสร้างเงินทุนที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นเพื่อล้างขาดทุนสะสมรวมถึงการเพิ่มทุนอีกจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม น่าจะช่วยให้ UOBT สามารถรักษาสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งได้
UOBT ก่อตั้งในปี 2482 และ ถูก UOB ของสิงคโปร์เข้าซื้อหุ้นในปี 2547 ประเทศไทยเป็นตลาดที่สำคัญของ UOBนอกเหนือจากสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่ธนาคารแม่ตั้งอยู่ และตลาดที่สำคัญอื่นๆเช่นมาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน UOBT เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของประเทศไทยโดยมีสาขามากกว่า 150 สาขา และมีส่วนแบ่งการตลาดทางด้านระบบสินเชื่อ และเงินฝากที่ 2.5%