กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--แอคชั่น 999
ตราบใดที่ยังมีชีวิต เรื่องปากท้องคือสิ่งสำคัญ การจะเลี้ยงชีพตัวเองและคนที่รักได้ ย่อมหมายถึงการมีรายได้ที่เพียงพอ
คำว่า ไม่มีงาน, ตกงาน, ไม่มีรายได้, ยากจน ล้วนเป็นคำที่น่ากลัวและไม่มีใครอยากตกอยู่ในสถานะนั้น หน่วยงานที่สนับสนุนคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างกรมชลประทาน จึงพยายามสนับสนุนส่งเสริมด้านอาชีพมาโดยตลอด
ซึ่งการส่งเสริมพัฒนาอาชีพที่ของกรมชลประทาน จะเน้นเพื่อจุดประสงค์หลายประการ ตั้งแต่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปจนถึงการบรรเทาผลกระทบของประชาชนจากโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำต่างๆ ด้วย อย่างเช่นโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลธร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชลบุรี ที่สร้างขึ้นเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำให้เป็นแหล่งต้นน้ำ ใช้ประโยชน์ด้านอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ตลอดจนช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยเพื่อบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ อำเภอพานทอง อำเภอพนัสนิคม อำเภอเกาะจันทร์ อำเภอบ่อทอง และอำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี รวมทั้งเกิดประโยชน์ด้านการประมง และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว
อ่างเก็บน้ำคลองหลวงมีความจุ 98 ล้านลูกบาศก์เมตร ประกอบด้วยพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝน 44,000 ไร่ พื้นที่เพาะปลูกในฤดูแล้ง 8,500 ไร่ และส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การประมงและพื้นที่อุตสาหกรรมปีละ 11.90 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยใช้งบประมาณค่าก่อสร้างทั้งโครงการ 9,341.36 ล้านบาท แน่นอนว่าทุกบาททุกสตางค์จะต้องเกิดประโยชน์สูงสุด
นายมหิทธิ์ วงศ์ษา นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญ กรมชลประทาน เล่าว่ากรมชลประทานได้ดำเนินการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการก่อสร้างโครงการฯมาตั้งแต่ปี 2555 รวมระยะเวลา 15 ปี งบประมาณ 300 ล้านบาท ในบรรดาแผนงานทั้ง 25 แผนงานที่เกิดขึ้นหลังจากศึกษาผลกระทบ กรมชลประทานเร่งดำเนินการให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้วยการส่งเสริมอาชีพ เพราะมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 9 หมู่บ้านในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำ นอกจากนี้กรมชลประทานยังให้งบประมาณส่วนหนึ่งแก่กรมพัฒนาชุมชน เพื่อดำเนินการแผนพัฒนาอาชีพให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือชาวบ้านจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากการดำเนินการดังกล่าวทำให้เกิดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบรอบอ่างเก็บน้ำ 9 หมู่บ้าน ทั้งกรมชลประทานและกรมพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมอาชีพให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความพอใจของคนในชุมชน เช่น แปรรูปเพาะเห็ด ปลูกมะนาว ทำประมง เป็นต้น
ที่สำคัญได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารกันเองอย่างเป็นระบบ ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้เปลี่ยนสถานะเป็นผู้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีอาชีพที่มั่นคง ความเป็นอยู่ดีขึ้น และเป็นการช่วยให้ชุมชนมีเศรษฐกิจที่ดีและเข้มแข็งด้วย
เมื่อรายได้ของคนรอบอ่างเก็บน้ำมากขึ้น หมายความว่าพวกเขาลืมตาอ้าปากได้ และนี่คือโอกาสที่จะพัฒนาชีวิตด้านต่างๆ ทั้งของตัวเองและครอบครัวให้มีความสุขอย่างยั่งยืน