กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 74.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 67.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่72.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 84.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น1.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 88.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ จัดตั้งคณะทำงาน Iran Action Group (IAG) ทำหน้าที่ตรวจสอบ และประสานงานระหว่างหน่วยงานของสหรัฐฯ เพื่อให้นโยบายคว่ำบาตรอิหร่าน มีระดับความเข้มงวดสูงสุด กดดันให้อิหร่านยอมเจรจาทำข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์ฉบับใหม่ และลดการขยายอิทธิพลในตะวันออกกลาง ล่าสุดโรงกลั่นของจีนไม่สามารถทำประกันภัยเรือขนส่งน้ำมันดิบจากอิหร่านส่งผลให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอิหร่าน (National Iranian Oil Corp. หรือ NIOC) ปรับเปลี่ยนการส่งมอบน้ำมันดิบอิหร่านให้โรงกลั่นจีน จากรับหน้าท่า (free-on-board: FOB) มาเป็นรับจากเรือของบริษัท National Iranian Oil Tanker (NITC) ที่ท่าปลายทาง (delivered ex-ship) ซึ่งอิหร่านจะรับผิดชอบต้นทุน และความเสี่ยงในการขนส่ง อนึ่งในเดือน ก.ค. 61 จีนใช้เรือ ของ NITC นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ปริมาณ 767,000 บาร์เรลต่อวัน
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ส.ค.61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 9 แท่น มาอยู่ที่ 860 แท่น
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ส.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 408.4 ล้านบาร์เรล ลดลงมากกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดการณ์ว่าจะลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.5 ล้านบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- วันที่ 23 ส.ค. 61 สหรัฐฯ และจีน เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าระลอกที่ 2 บังคับใช้กำแพงภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าของอีกฝ่ายมูลค่าฝ่ายละ 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ปัจจุบันมูลค่าสินค้าที่ทั้งสองชาติเรียกเก็บภาษีมีมูลค่าฝ่ายละ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) ทั้งนี้ สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษี จาก Semiconductors พลาสติก และเคมีภัณฑ์ ขณะที่ จีนเก็บภาษีนำเข้าทองแดง และรุกคืบโจมตีอุตสาหกรรมพลังงานสหรัฐฯ โดยเรียกเก็บภาษีนำเข้าถ่านหิน และน้ำมันสำเร็จรูป อย่างไรก็ดีจีนยังไม่เรียกเก็บภาษีนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ
- กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ประกาศจะออกประมูลขายน้ำมันดิบ จากคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ปริมาณรวม 11 ล้านบาร์เรล ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.- 30 พ.ย. 61
- EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 17 ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 11.00 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันปิดตลาดวันศุกร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกชนิด เนื่องจากนักลงทุนยังไม่คลายความกังวลเกี่ยวกับอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัวจากปัญหาการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ โดยวาณิชธนกิจ Jefferies Financial Group ของสหรัฐฯ เผยว่าอิหร่านส่งออกน้ำมันดิบในช่วงครึ่งแรกของเดือน ส.ค. 61 ลดลง 700,000 บาร์เรลต่อวัน จากปริมาณส่งออกเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ที่ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน FGE คาดว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงกลางปี 2562 อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของอิหร่าน นาย Bijan Zanganeh พยายามตอบโต้ประเทศต่างๆ ที่ปฏิบัติตามสหรัฐฯ ในการคว่ำบาตรอิหร่าน และกล่าวว่าสมาชิกกลุ่ม OPEC บางประเทศได้ปฏิบัติตามนโยบายของสหรัฐฯ อิหร่านย้ำว่าสมาชิกในกลุ่มไม่ควรได้รับอนุญาตให้ครอบครองส่วนแบ่งการส่งออกน้ำมันของสมาชิกรายอื่น อย่างไรก็ตาม กลุ่ม OPEC นำโดยซาอุดิอาระเบีย และ Non-OPEC นำโดยรัสเซีย ได้ตกลงร่วมกันเมื่อเดือน มิ.ย. 61 ถึงการเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อทดแทนอุปทานที่มีแนวโน้มลดลงจาก เวเนซุเอลา และอิหร่าน อย่างไรก็ดี ความต้องการน้ำมันของจีนที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจีนและสหรัฐฯ จะตั้งกำแพงภาษีระหว่างกันระลอกที่ 2 เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 61 โดยบังคับใช้กำแพงภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าของอีกฝ่าย มูลค่าฝ่ายละ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ เน้นตั้งกำแพงภาษีสินค้าเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ พลาสติก และมอเตอร์ไซด์ ขณะที่จีนเน้นสินค้าด้านพลังงาน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เหล็ก รถยนต์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างไรก็ดี ยังไม่รวมถึงน้ำมันดิบ ส่งผลให้ล่าสุดReuters เผยว่าบริษัท Unipec ของจีน จะกลับมานำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ในเดือน ต.ค. 61 (สำหรับส่งมอบในเดือน พ.ย. – ธ.ค. 61) หลังจากหยุดนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. – ก.ย. 61 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการตั้งกำแพงภาษีน้ำมันดิบของรัฐบาลจีน สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 73-77เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 66.5-70.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 71.5-75.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทั้งนี้ Platts รายงานตลาดน้ำมันเบนซินในตะวันออกกลางแข็งแกร่ง ดึง Arbitrage จากภูมิภาคยุโรป และเอเชีย ประกอบกับหน่วยผลิตน้ำมันเบนซิน (Fluid Catalytic Cracker หรือ FCC) ปริมาณการผลิต 600,000 บาร์เรลต่อวัน ที่โรงกลั่น Jamnagar (กำลังการกลั่น 600,000 บาร์เรลต่อวัน) ประสบปัญหาทางเทคนิคปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 61 (หน่วย FCC จะกลับมาผลิตในสัปดาห์นี้) ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ส.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 370,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.87 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Platts สำรวจโรงกลั่นรายใหญ่ในจีน อาทิSinopec, PetroChina, Sinochem และ China National Offshore Oil Corp. พบว่าโรงกลั่นเดินเครื่องกลั่นน้ำมัน ในเดือน ส.ค. 61 ที่ระดับ 80% ซึ่งถือเป็นระดับสูงไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อน ประกอบกับ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 234.3 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 84-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจากตลาดน้ำมันดีเซลในเอเชียยังได้แรงสนับสนุนจาก บริษัท JXTG Nippon Oil & Energy Corp. ของญี่ปุ่นประกาศหยุดส่งมอบน้ำมันทางเรือให้ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ จากโรงกลั่น Sendai (กำลังการกลั่น 145,000 บาร์เรลต่อวัน) และ โรงกลั่น Negishi Yokahama (กำลังการกลั่น 340,000บาร์เรลต่อวัน) เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดจากไต้ฝุ่น Cimaron ที่พัดผ่านฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่น ทั้งนี้บริษัทยังไม่ได้กำหนดเวลาที่โรงกลั่นจะกลับมาส่งมอบน้ำมันทางเรือ ประกอบกับผู้ค้าคาดว่าจะเริ่มมีแรงซื้อน้ำมันเพื่อทำความอบอุ่น (Heating Oil) สำหรับเก็บสำรองในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากปัจจุบันปริมาณสำรองทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ส.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 270,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 8.81 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบเกือบ 3 เดือน อย่างไรก็ตาม Platts รายงานจีนยังคงส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน ส.ค. 61 อาทิ บริษัท PetroChina มีแผนส่งออกน้ำมันดีเซล ปริมาณ 585,000 บาร์เรล จากโรงกลั่น Guangxi (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่เมือง Qinzhou และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 130.8 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 87.5-91.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล