กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--
กทปส. สนับสนุนให้ทุนวิจัยโครงการเพิ่มทักษะรู้เท่าทันสื่อและสนับสนุนบทบาทเยาวชน (รักสันติ) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันด้านองค์ความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาระบบการคิดเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนแกนนำเยาวชนในพื้นที่ฯ ให้มีทักษะและรู้เท่าทันสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ พร้อมสร้างเครือข่ายมวลชนเสริมสร้างสังคมสันติสุข โดยเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและนำเสนอความคิดเพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสมานฉันท์ หวังลดการใช้ความรุนแรงโดยการสนับสนุนแนวทางแห่งสันติวิธี
นายสุไลมาน เจ๊ะและ นายกสมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (Peaceful of Southern Boundary's Organization: POSBO) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาคมเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเปิดเผยถึงแนวคิดการดำเนินโครงการและแผนงานในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเยาวชนและชุมชน เปิดเผยว่า สมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรของภาคประชาคม (CSOs) ที่ขับเคลื่อนงานด้านการสนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพและสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน มุ่งหวังที่จะขยายแนวคิดความเป็นประชาชาติเดียวกันที่อยู่เหนือ อัตลักษณ์ของภาษา เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และศาสนาต่าง ๆ ให้ได้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติสุขบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ และเชื่อว่าการสื่อสารจะทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของพลังทางสังคมจากฝ่ายต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (POSBO) ได้กำหนดกิจกรรมภายใต้ชื่อโครงการเพิ่มทักษะรู้เท่าทันสื่อและสนับสนุนบทบาทเยาวชน (รักสันติ) เพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น เพื่อขยายพื้นที่ด้านสันติภาพและสร้างมวลชนเครือข่ายเสริมสร้างสังคมสันติสุขในแกนนำเยาวชนของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีองค์ความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาระบบทางความคิดเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติวิธีในการแสวงหาทางออกของปัญหาความขัดแย้งจากสถานการณ์ความรุนแรงต่อไป
"เยาวชนกลุ่มเป้าหมาย คือ เยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งตาม พรบ.ส่งเสริมเด็กและเยาวชน ฉบับที่ 2 ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบลขึ้นให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้มีความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย แต่บริบทในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้จำนวน 290 กว่าตำบล จะแตกต่างจากพื้นที่ทั่วไป เนื่องจากในพื้นที่มีความขัดแย้ง ก่อให้เกิดชุดความคิดหลายชุด เช่น ชุดความคิดชาตินิยมสุดโต่ง หรือชาตินิยมมลายู ส่วนชุดความคิดหนึ่งก็คือชุดความคิดทั่วไป จึงส่งผลให้เกิดการแบ่งกลุ่มกัน อีกทั้งเครื่องมือที่สำคัญของกลุ่มก่อความไม่สงบนำมาใช้ในการส่งข่าวสารเพื่อชักชวนเยาวชนก็คือ วิดีโอ กลุ่มก่อความไม่สงบใช้ปฏิบัติการข่าวสารในการชักชวน เยาวชนให้เข้าร่วมปฏิบัติการก่อความไม่สงบในพื้นที่ ดังนั้นจึงเป็นโจทย์หลักที่สมาคมฯ มีความคิดว่าจะต้องดำเนินการหรือหาวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ความแตกต่างทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของพื้นที่มาส่งเสริมในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ จึงเป็นที่มาของโครงการเพิ่มทักษะรู้เท่าทันสื่อและสนับสนุนบทบาทเยาวชน (รักสันติ)" นายสุไลมาน เจ๊ะและ กล่าว
สำหรับการดำเนินงานโครงการฯ ได้เริ่มจากการศึกษาข้อมูล วางรูปแบบการดำเนินกิจกรรม และนำผลการศึกษาวิจัยจากนักวิชาการในพื้นที่มาปรับใช้ นอกจากนี้ยังได้ตั้งคณะทำงานและผู้รับผิดชอบโครงการเพิ่มทักษะรู้เท่าทันสื่อและสนับสนุนบทบาทเยาวชน (รักสันติ) เพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมข่าวทหารบก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า กอ.รมน.จังหวัดทราบ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด ศปก.อำเภอ เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่กิจกรรมและขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดประกาศโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์
"การให้ความรู้ความเข้าใจเชิงประวัติศาสตร์ เราก็เชิญนักวิชาการที่มาให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง เนื่องจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีพยายามนำเสนอข้อมูลประวัติศาสตร์บิดเบือนไปจนก่อให้เกิดความขัดแย้ง การแบ่งพรรคแบ่งพวก เช่น กลุ่มนั้นไทยพุทธ กลุ่มนั้นไทยมุสลิม ซึ่งข้อมูลนี้ถูกนำไปเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ กลุ่มผู้รับสื่อซึ่งเป็นคนในพื้นที่ก็จะเป็นอีกกลุ่ม ดังนั้นการรับข่าวสารจากสื่อของประชาชนในพื้นที่จึงมีความสำคัญ และเป็นที่มาที่ทางสมาคมฯ ได้จัดทำโครงการฯ เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มทักษะรู้เท่าทันสื่อ ให้พิจารณาวิเคราะห์ที่มาของข้อมูลที่ได้รับจากสื่อ ตัวอย่างเช่น หากเด็กไม่มีผู้ใหญ่แนะนำในการเสพสื่อ เด็กก็เชื่อตามสื่อเลย ทำให้ตกเป็นเหยื่อเป็นเครื่องมือ หรืออาจจะพูดได้ว่าเป็นแนวร่วมมุมกลับของผู้ไม่หวังดี ซึ่งก็จะมาเป็นอุปสรรคของการแก้ปัญหาและรัฐบาล ดังนั้นจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทำโครงการฯ และจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่และประเทศ" นายสุไลมาน เจ๊ะและ กล่าว
การส่งเสริมบทบาทหลังจากเด็กเยาวชนเข้าร่วมโครงการฯ อบรมแล้ว ทางโครงการฯ ได้จัดสรรพื้นที่และเวทีเพื่อขยายต่อไปยังกลุ่มเครือข่าย กลุ่มเพื่อนๆ ของเด็กเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ยังบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ อาทิเช่น กอ.รมน. ฝ่ายความมั่นคง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งดูแลเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว ดังนั้น การบูรณาการความร่วมมือจึงเป็นหัวใจสำคัญโดยเริ่มต้นจากโครงการฯ นี้ และสานต่อโครงการโดยได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องจากองค์กรที่ดูแล เพื่อขยายเครือข่าย ทั้งนี้ทางสมาคมฯ จะมีการส่งมอบต่อโครงการเพิ่มทักษะรู้เท่าทันสื่อและสนับสนุนบทบาทเยาวชน (รักสันติ) ต่อไปที่องค์การส่วนท้องถิ่น
ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการฯ ก่อนขอรับทุนสนับสนุนจาก กทปส. มีอุปสรรคหลักในการดำเนินโครงการฯ ก็คือ งบประมาณและความไม่ต่อเนื่องในการทำโครงการและการจัดกิจกรรม การอบรมให้ความรู้และการสร้างกลุ่มเครือข่ายเด็กเยาวชนจึงไม่ต่อเนื่อง พอจะมาเริ่มใหม่เด็กกลุ่มที่เราสร้างเป็นแกนนำไว้ก็ต้องมาเริ่มต้นอบรมกันใหม่ อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวจะไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มเด็กใน 290 ตำบลกลุ่มเป้าหมายที่เราตั้งไว้คือเด็ก 7,000 คน นอกจากนี้ทางด้าน อบต. กอรมน. จะดำเนินการโครงการฯ ต่อ ซึ่งอีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้าเด็กเยาวชนวันนี้ก็คือ ผู้ใหญ่ในอนาคตที่จะสามารถปฏิเสธและรู้เท่าทันสื่อที่ไม่ดี
ทั้งนี้ในการดำเนินโครงการฯ ทางสมาคมฯ ขอขอบคุณทาง กทปส. ที่เล็งเห็นความสำคัญในบทบาทหน้าที่ของสมาคมฯ พร้อมให้การส่งเสริมและสนับสนุนทุนในการดำเนินโครงการในครั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้ให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่มีภูมิคุ้มกันและรู้เท่าทันสื่อที่ไม่ดี เพื่อเป็นแนวร่วมในการสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว ชุมชนและประเทศ รวมถึงไม่ตกเป็นเครื่องมือที่จะมาทำลายประเทศ สุดท้ายขอฝากให้องค์กร หน่วยงาน ภาคการศึกษาที่มีโครงการและต้องการทุนสามารถนำเสนอโครงการเข้าไปที่ กทปส. ได้ และก็ขอให้ กทปส. สนับสนุนโครงการลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง