กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--China Radio International
นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐของสาธารณรัฐประชาชนจีน และ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีของไทย ได้ร่วมเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-ไทย "Thailand-China Business Forum 2018 : Comprehensive Strategic Partnership through the Belt and Initiative and the EEC" โดยมีตัวแทน ผู้บริหารจากภาคอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ ทั้งจีน-ไทย และจากหลากหลายวงการจำนวนกว่า 600 ท่านเข้าร่วมงาน ในวันนี้ (24 สิงหาคม 2561) ณ โรงแรม แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค สุขุมวิท 22 กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้กล่าวคำปราศรัย ความว่า
ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสกลับมาเยือนกรุงเทพฯที่สวยงามอีกครั้ง และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นประธานร่วมกับ ฯพณฯ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีของไทยในงานฟอรั่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่าง จีน-ไทย ปี 2018 สำหรับงานในวันนี้เก้าอี้ของเราแทบจะไม่เหลือที่นั่งว่างเลย เนืองแน่นไปด้วยตัวแทน ผู้บริหารจากภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์ จีน-ไทยหลากหลายวงการจำนวน 600 ท่าน ซึ่งสะท้อนถึงความปรารถนาดีต่ออนาคตของความร่วมมือทวิภาคีระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งสื่อถึงความประสงค์ร่วมกันที่อยากกระชับสัมพันธ์ไมตรีระหว่างจีน-ไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ณ ที่แห่งนี้ ข้าพเจ้าในนามของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ขออวยพรให้งานฟอรั่มครั้งนี้ประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และขอแสดงความเคารพและขอบคุณอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มุ่งมั่นส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างจีน-ไทยมาโดยตลอดจากทุกๆ วงการด้วยเช่นกัน
ประเทศจีนและประเทศไทยมีสายสัมพันธ์สืบต่อเนื่องมายาวนานนับกว่าสองพันปี ความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่นระหว่างสองประเทศได้นำไปสู่มิตรภาพอันลึกซึ้งที่ใกล้เคียงกันทั้งทางสายเลือด วัฒนธรรม และประชาชน และนับวันเปล่งประกายของพลวัตใหม่ๆ โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไทยก็ได้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้น มีการไปมาหาสู่กันระหว่างผู้นำระดับสูงอย่างบ่อยครั้ง ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยมีการพบปะและเจรจากันหลายต่อหลายครั้ง และบรรลุความเห็นพ้องกันหลายประการเกี่ยวกับการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านและการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศ ถือเป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ
ขณะเดียวกัน นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยก็ได้มีการพบปะกันหลายครั้ง และเห็นตกลงกันที่จะขยายขอบเขตการลงทุนและการค้าให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ส่งเสริมการเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐานและการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน ตลอดจนสนับสนุนความร่วมมืออันเป็นรูปธรรมในหลากหลายสาขา เมื่อปีที่แล้วประเทศจีนและประเทศไทยได้มีการลงนามใน "บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่ม 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง'" และ "แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์จีน-ไทย ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564 )" ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสอันสำคัญให้กับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในอนาคต
เพื่อนำข้อตกลงของผู้นำทั้งสองฝ่ายไปปฏิบัติใช้จริง รัฐบาลจีนและไทยพร้อมกับทุกภาคส่วนได้ร่วมแรงร่วมใจกันบุกเบิกพื้นที่ความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง และร่วมสร้างผลสำเร็จอย่างงดงามทั้งในด้านการค้า การลงทุน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนระหว่างกันอย่างเป็นที่ประจักษ์ดังต่อไปนี้
ประการแรก ยอดมูลค่าการค้าทวิภาคีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการค้าระหว่างจีนและไทยในปี 2017 ได้ทะลุ 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จีนยังคงเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของไทยติดต่อกันถึง 5 ปี ส่วนในบรรดาประเทศอาเซียน ประเทศไทยก็เป็นคู่ค้าอันดับสามของจีน ภายใต้กรอบการค้าเสรีจีน-อาเซียน จีนได้ยกเว้นภาษีนำเข้าให้แก่สินค้าไทยกว่า 90% และมีการฟื้นฟูการนำเข้ารังนกจากประเทศไทย ส่งเสริมการค้าขายข้าวและยางพาราต่อกันได้อย่างสำเร็จ และเปิดช่องทางหลายช่องให้สินค้าไทยสามารถเข้าถึงตลาดจีนได้
ประการที่สอง ความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างสองฝ่ายยกระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติพบว่าจีนเป็นแหล่งเงินทุนของประเทศไทยที่ใหญ่เป็นอันดับสาม พวกเราสนับสนุนให้นักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนและสร้างโรงงานในไทย ส่งเสริมการสร้างนิคมอุตสาหกรรมอย่างนิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทย(ระยอง) และพัฒนาอุตสาหกรรมและสาขาที่เกี่ยวข้อง ในปลายปีที่ผ่านมา ความร่วมมือในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทยได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ เป็นการเปิดหน้าใหม่สำหรับความร่วมมือด้านการเชื่องโยงกันทางกายภาพ พวกเรายังได้ดำเนินการปฏิรูปในเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง ลดกฎเกณฑ์และเงื่อนไขการเข้าถึงตลาดจีน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าอันสดใสและเอื้ออำนวยให้กับนักลงทุนไทยในประเทศจีน
ประการที่สาม การแลกเปลี่ยนระดับประชาชนและทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนับวันใกล้ชิดมากขึ้น พวกเราได้ขยายตลาดการท่องเที่ยวร่วมกัน ประเทศไทยได้เป็นเป้าหมายประเทศการท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีน นักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของไทยมานานหลายปี โดยมีนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยเกือบ 10 ล้านคนในปีที่แล้ว และในครึ่งปีแรกนี้มีนักท่องเที่ยวจีนเกือบ 6 ล้านคนที่เดินทางมาเที่ยวไทย พวกเรายังได้ส่งเสริมการแบ่งปันทรัพยากรด้านการศึกษาซึ่งกันและกัน โดยมีนักเรียนจีนจำนวน 37,000 คนที่ศึกษาอยู่ในประเทศไทย และนักเรียนไทยกว่า 27,000 คนที่ศึกษาอยู่ในประเทศจีน นอกจากนี้พวกเรายังส่งเสริมความร่วมมือด้านการบินอวกาศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเกษตร การเงิน การค้าอิเล็กทรอนิกส์ อินเทอร์เน็ต ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น พัฒนาความร่วมมือในหลากหลายสาขาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ส่วนดาวเทียมที่ทั้งสองฝ่ายร่วมกันออกแบบและสร้างขึ้นนั้นกำลังจะถูกปล่อยจรวดออกสู่อวกาศในเร็วๆ นี้
เราสามารถพูดได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนและไทยมีรากฐานอันมั่นคงและยั่งยืน เปี่ยมไปด้วยพลวัตรและประสบผลสำเร็จอย่างสวยงาม นับเป็นแบบอย่างของความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อกันระหว่างประเทศ และนำมาซึ่งพลังขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่มาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ การที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทยมีผลสำเร็จอันงดงามเช่นที่ปรากฏอยู่นี้ เหตุผลหลักเป็นเพราะทั้งสองฝ่ายให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ปฏิบัติต่อกันด้วยความเสมอภาค เอื้อประโยชน์ต่อกันและ win-win พร้อมกัน รวมทั้งร่วมบุกเบิกด้วยกัน และเป็นผลอันเกิดจากการตั้งใจทำงานอย่างหนักของเพื่อนๆ จากทั้งวงการการค้าและอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศด้วยเช่นเดียวกัน
สุภาพสตรี สุภาพบุรุษ เพื่อนมิตรทั้งหลาย
ปีนี้เป็นปีครบรอบ40 ปี ของการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน ภารกิจการสร้างสรรค์ประเทศจีนให้ทันสมัยได้ย่างเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แล้ว ทุกวันนี้จีนได้บริหารประเทศตามแนวทางข้อตกลงของที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 ยืนหยัดในหลักการทำงานเพื่อพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง ปฏิบัติตามแนวความคิดด้านการพัฒนาในรูปแบบใหม่ โดยเน้นการปฏิรูปโครงสร้างด้านอุปทานเป็นหลัก เร่งสร้างระบบเศรษฐกิจแนวใหม่ที่ทันสมัย และดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่มีคุณภาพระดับสูง
ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ เศรษฐกิจจีนยังคงดำรงอยู่ในระดับที่ดีอย่างมั่นคง ยอดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้น 6.8% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว มีอัตราจ้างงานในเมืองเพิ่มขึ้น 7,520,000 คน ตัวชี้วัดการควบคุมเศรษฐกิจมหภาคอยู่ในระดับที่เหมาะสม โครงสร้างเศรษฐกิจมีการปรับปรุงดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความต้องการภายในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนประเทศไทยก็ได้ย่างเข้าสู่ยุคใหม่ของการพัฒนาเช่นเดียวกัน โดยมีการเสนอยุทธศาสตร์ "ไทยแลนด์ 4.0" เพื่อส่งเสริมการยกระดับเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และกำลังมุ่งสร้าง "โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก" เป็นหลัก จีนและไทยล้วนเป็นประเทศกำลังพัฒนา ต่างอยู่ในระยะเวลาสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ โครงสร้างอุตสาหกรรมของทั้งสองสามารถสอดรับและเสริมสร้างซึ่งกันและกันได้
ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศก็มีความสอดคล้องกันในระดับสูง สมควรอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อกันอย่างแน่วแน่ และผลักดันให้ความร่วมมือระหว่างสองประเทศก้าวหน้าไปสู่ขนาดยิ่งใหญ่ ขอบเขตกว้างขวาง และระดับลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นต่อไป
สองฝ่ายควรเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ให้เหนียวแน่นมากขึ้น โดยนำเอาข้อตกลงของผู้นำของทั้งสองประเทศไปปฏิบัติใช้จริงเพื่อให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม เชื่อมต่อข้อริเริ่ม "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" เข้ากับนโยบายการสร้าง "ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก" รักษาการพูดคุยประสารงานด้านนโยบายในหลายช่องทาง เสาะแสวงหาจุดร่วมด้านยุทธศาสตร์อย่างกระตือรือร้น แบ่งปันประสบการณ์ในการพัฒนาภูมิภาค ทุ่มเทกำลังในการแก้ไขและขจัดอุปสรรคและปัญหาที่เกิดขึ้นในความร่วมมือ ขับเคลื่อนโครงการเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมที่สำคัญในภูมิภาคและโครงการให้บริการประชาชน เพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศอย่างแท้จริง
สองฝ่ายควรแสวงหาศักยภาพการขยายตัวทางการค้ามากขึ้น โดยเสริมสร้างความร่วมมือด้านพิธีการศุลกากร การตรวจสอบและกักกันโรค การรับรองเอกสาร การค้าอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ และด้านอื่นๆ ทำให้นโยบายการลดหย่อนภาษีนำเข้าภายใต้กรอบการค้าเสรีจีน-อาเซียนและนโยบายส่งเสริมการค้าต่างๆ ตาม "แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าจีน-ไทย ระยะเวลา 5 ปี" ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ขยายขอบเขตทางการค้าให้กว้างออกไปและปรับปรุงโครงสร้างการค้าให้ดีขึ้น มุ่งไปสู่เป้าหมายทางการค้ามูลค่า 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 อย่างแข็งขัน
งานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติของจีนครั้งแรกจะจัดขึ้นที่เมืองเซี่ยงไฮ้ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ พวกเราเชิญชวนนักธุรกิจไทยเข้าร่วมงานด้วยความจริงใจ เพื่อแสวงหาโอกาสความร่วมมือระหว่างจีน-ไทยต่อไป
สองฝ่ายควรเน้นส่งเสริมความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานและกำลังการผลิต จีนยินดีส่งเสริมความร่วมมือกับไทยภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศตามข้อริเริ่ม "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" สนับสนุนวิสาหกิจและองค์กรการเงินของจีนที่มีศักยภาพและน่าเชื่อถือเข้ามาลงทุนใน"โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก" โดยบนหลักการ "วิสาหกิจเป็นหลัก รัฐบาลเป็นผู้ส่งเสริม ปฏิบัติตามกลไกการตลาด" พร้อมทั้งสนับสนุนความร่วมมือด้านการก่อสร้างและบริหารโครงสร้างพื้นฐานกับวิสาหกิจไทย ร่วมพัฒนานิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน(ระยอง)ต่อไป เพื่อสร้างเป็นแบบอย่างของโครงการความร่วมมือที่ใหญ่หลวงมากขึ้น จนช่วยสร้างงานให้กับท้องถิ่น ยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น
สองฝ่ายควรเสริมสร้างความร่วมมือพหุภาคีในภูมิภาคมากขึ้น ฝ่ายจีนยินดีร่วมมือกับฝ่ายไทยอย่างใกล้ชิด ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีโดยมีองค์การการค้าโลกเป็นศูนย์กลาง และขับเคลื่อนการค้าแบบอิสรเสรีและสะดวกสบาย ส่งเสริมการปฏิบัติตามข้อตกลงการเจรจายกระดับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อให้ภาคธุรกิจได้รับประโยชน์จากเขตการค้าเสรีได้มากขึ้น ร่วมกันส่งเสริมการดำเนินงานตามความร่วมมือลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงให้บรรลุผลมากยิ่งขึ้น เร่งส่งเสริมการเจรจาในความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) ให้ได้ผลจริงโดยเร็ว
สองฝ่ายควรขยายความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างกระตือรือร้น ปีนี้เป็นปีนวัตกรรมจีน-อาเซียน ฝ่ายจีนยินดีร่วมกับฝ่ายไทยในการขยายความร่วมมือด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรเชิงนิเวศ อุตสาหกรรมดิจิทัล พลังงานชีวภาพ การค้าอิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์ทันสมัย การบริการท่องเที่ยว วัฒนธรรมและการศึกษา เป็นต้น เพื่อสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายได้ขยายความร่วมมือในด้านนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี อาทิ อุตสาหกรรมดิจิทัล อวกาศ อัตโนมัติ เป็นต้น และเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประชาชนตลอดจนการเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรมร่วมกัน
สุภาพสตรี ภาพบุรุษ เพื่อนมิตรทั้งหลาย
ปัจจุบันนี้ ระบบเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงแปรเปลี่ยนอย่างลึกซึ้ง ปัจจัยที่ไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ลักทธิการกีดกันทางการค้าลุกลามไปทั่วทุกสารทิศ ตัวเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ เผชิญกับปัญหาการเงินผันผวน จนเป็นการท้าทายที่ยากลำบากต่อการพัฒนาของเศรษฐกิจโลก ทว่าแนวโน้มการขยายตัวของโลกาภิวัฒน์นั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือเปลี่ยนแปรงได้อย่างแน่นอน
เมื่อเดือนเมษายนนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ตอกย้ำในการประชุมฟอรั่มโป๋อ้าวประจำปีไว้ว่า ประตูที่เปิดกว้างสู่ภายนอกของจีนจะไม่มีวันปิดลง มีแต่จะเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น และประกาศมาตรการสำคัญ ๆ หลายประการเกี่ยวกับการขยายตลาดจีนให้กว้างขึ้น รวมถึงการเปิดช่องให้ทุนต่างชาติเข้าไปในตลาดจีนอย่างเสรีมากขึ้น เสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดการลงทุน เพิ่มกำลังในการคุ้มครองสิทธิทางปัญญา และขยายการนำเข้าอย่างแข็งขันเป็นต้น ซึ่งจะสร้างโอกาสการพัฒนาอันดียิ่งสำหรับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย พวกเรายินดีต้อนรับวิสาหกิจและบริษัทของไทยเข้ามาค้าขาย ลงทุนและสร้างโรงงานในจีนมากขึ้นเรื่อยๆ และร่วมแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการเปิดกว้างและการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน จีนยินดีและพร้อมที่จะร่วมมือกับฝ่ายไทยในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และโอกาสการพัฒนา ตลอดจนร่วมใจร่วมแรงกันสร้างเสริมเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้างและประชาคมร่วมชะตาของมวลมนุษย์