กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดโครงการสัมมนาวิชาการ เรื่อง การตัดสินใจแบบมีส่วนร่วม เพื่อขับเคลื่อนและขยายผลการจัดการดินอย่างยั่งยืน และบรรยายพิเศษ เรื่อง "แนวคิดการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน" ณ โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง ว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันจัดโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการขับเคลื่อนและขยายผลการจัดที่ดินอย่างยั่งยืน (Decision Support for Mainstreaming and Scaling up of Sustainable Land Management, DS-SLM) ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้หลักการดำเนินงานแบบบูรณาการทั้งในด้านวิชาการและการปฏิบัติ มุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้และฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงจากระดับพื้นที่สู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก ช่วยสนับสนุนให้เกิดการขยายผลและขับเคลื่อนการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนในเชิงนโยบาย รวมไปถึงการเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านแนวโน้มความเสื่อมโทรมของที่ดิน โดยเฉพาะในพื้นที่ทำการเกษตร การแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นและประสบการณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับปัจจัยที่กระตุ้นให้กระบวนการเสื่อมโทรมของดินเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศและภูมิภาคในการขยายผลการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนและความเสื่อมโทรมของดิน โดย FAO-WOCAT หรือผ่านทางความร่วมมือของภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการองค์ความรู้ในระดับโลกด้านความเสื่อมโทรมของดินและการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนและฐานข้อมูลการตัดสินใจโดยใช่หลักของ LADA-WOCAT การสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการขับเคลื่อนและขยายผลกิจกรรมด้านการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน (Sustainable Land Management :SLM) ระหว่างประเทศและองค์กรการพัฒนาและสนับสนุนต่อยุทธศาสตร์ 10 ปี ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (UNCCD) ในด้านการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การติดตามและประเมินผล และการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจตามระบบ FAO-WOCAT เป็นต้น
"ดินเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดด้านความมั่นคงของมนุษย์ ความอดอยาก หิวโหย ที่ทั่วโลกวิตกกังวล ซึ่งทั้งหมดเริ่มต้นจากดินและน้ำ หากดินดี รักษาความสมบูรณ์ ไม่มีการชะล้างพังทลายของดิน ไม่มีการใช้สารเคมีจนส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในดิน รวมถึงการมีพืชคลุมดินที่จะเก็บรักษาความชื้นและความอุดมสมบูรณ์เหมือนป่าในเรื่องดิน ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้น รักษาดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อกระบวนการผลิตอาหาร น้ำ อากาศ ที่จำเป็นกับความอยู่รอดของมนุษย์ ซึ่ง FAO ได้เล็งเห็นคุณค่าดังกล่าว จึงได้ถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรมแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมอนุมัติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานวันดินโลก และมอบรางวัลดินโลกขึ้น รวมถึงเตรียมจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคอาเซียน (CESRA)ในประเทศไทย และได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เป็นทูตพิเศษ (Special Ambassador) ของสหประชาชาติ ด้าน Zero Hunger (การขจัดความหิวโหย) ส่งผลให้ขณะนี้ทั่วโลกได้มองเห็นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการประมวลองค์ความรู้ของพระเจ้าแผ่นดิน ในการพัฒนาดิน น้ำ การผลิตอาหาร อากาศ และยา โดยงานทั้งหมดที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงทำไว้กว่า 50,000 เรื่องนั้น ถือเป็นโอกาสให้ประเทศไทยได้นำมาเผยแพร่ ช่วยเหลือคนทั้งโลกได้ต่อไป" นายวิวัฒน์ กล่าว
ด้านนายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ปัญหาความเสื่อมโทรมของที่ดิน ภัยแล้ง และการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (Land Degradation Droughtand Desertification) ที่เกิดขึ้นทั่วไปอย่างต่อเนื่องและรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ซึ่งการขับเคลื่อนและขยายกิจกรรมด้านการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน (Sustainable Land Management :SLM) จึงต้องคำนึงถึงความท้าทายเพื่อแก้ปัญหาใน 3 ด้านได้แก่ ด้านหน่วยงานและนโยบาย ด้านเศรษฐกิจและการเงิน และด้านความรู้และเทคโนโลยี ดังนั้น องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility : GEF) จัดทำโครงการความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ 15 ประเทศ โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการขับเคลื่อนและขยายผลการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน (Decision Support for Mainstreaming and Scaling up of Sustainable Land Management, DS-SLM) ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้หลักการดำเนินงานแบบบูรณาการทั้งในด้านวิชาการและการปฏิบัติ โดยเน้นการพัฒนาองค์ความรู้และฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงจากระดับพื้นที่สู่ระดับภูมิภาค และระดับโลก ช่วยสนับสนุนให้เกิดการขยายผลและขับเคลื่อนการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนในเชิงนโยบาย รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การดำเนินงานจำเป็นต้องมีการประเมินปัญหา อุปสรรค และความท้าทายในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมโทรมของที่ดินและภัยแล้ง รวมทั้งใช้หลักการทำงานแบบมีส่วนร่วมเพื่อหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกัน ลดความรุนแรง และฟื้นฟูผลกระทบของปัญหาความเสื่อมโทรมของที่ดินและภัยแล้ง และการขยายผลแนวทางปฏิบัติสู่ระดับนโยบายเพื่อสร้างการสนับสนุนในเชิงนโยบาย งบประมาณ และความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพในการขับเคลื่อนกิจกรรมการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนให้เป็นระบบ ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนในการใช้ที่ดินของประเทศ รวมทั้งผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินโครงการจะส่งผลประโยชน์โดยรวมต่อโลก ทั้งด้านการเพิ่มผลผลิต การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน การมีน้ำเพิ่ม รวมถึงการใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพด้วย