กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการร่วมมือว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 6 ยกระดับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ผนึกความร่วมมือรอบด้าน ตั้งเป้าการค้า 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564 พร้อมลงนามเอกสารสำคัญ 6 ฉบับ สานความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะทำงานนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุม
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เผยว่า การประชุม JC เศรษฐกิจไทย – จีน ครั้งที่ 6 ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้ยกระดับ และกระชับความสัมพันธ์ของการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ โดยมอบคณะทำงานร่วมไทย–จีน ด้านการค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไปหารือถึงการยกระดับความร่วมมือ ทำอย่างไรให้กลไกที่มีอยู่ในปัจจุบันกว้างขึ้นและครอบคลุมประเด็นต่างๆ ของทุกหน่วยงานมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะให้มีการลงนามกรอบความร่วมมือนี้ในอนาคตอันใกล้
พร้อมกันนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงการผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ทั้งการค้า การลงทุน การเกษตร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ การท่องเที่ยว การเงิน ดิจิทัล รวมถึงความเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์และการสอดประสานด้านนโยบายที่ไทยกำลังมุ่งสู่การเป็น Thailand 4.0 กับ "ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" ของจีน ที่สามารถเกื้อกูล และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันได้ พร้อมตั้งเป้าหมายทางการค้าที่ 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564
สำหรับการลงนามในเอกสารรวม 6 ฉบับ ได้แก่ 1) เอกสารแสดงผลลัพธ์การประชุม JC เศรษฐกิจไทย – จีน ครั้งที่ 6 มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน/ 2) MOU จัดตั้งคณะทำงาน ส่งเสริมการค้าอย่างไร้อุปสรรคระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยกับจีน เพื่อประสานการแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน/ 3) พิธีสารหลักเกณฑ์การตรวจสอบการกักกันและสุขอนามัย ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนไทย ให้สามารถส่งออกสินค้าสัตว์ปีกไปยังจีนได้มากขึ้น/ 4) MOU ส่งเสริมการลงทุนระหว่างไทยและจีน ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ระหว่างกัน/ 5) MOU ระหว่าง EEC กับกระทรวงพาณิชย์จีน เสริมความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ ชวนนักลงทุนจีนมาลงทุนในพื้นที่ EEC และ 6) MOU ความร่วมมือด้านอวกาศ อาทิ โครงการส่งนักวิจัยไทยขึ้นไปวิจัยและทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติเทียนกง รวมทั้งการนำเทคโนโลยีดาวเทียมของจีนมาใช้ในการพัฒนาด้านการเกษตรของไทย
ด้าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กล่าวว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการดำเนินความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ด้วยดีมาโดยตลอด โดยให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนใน EECi และ Food Innopolis เพื่อร่วมพัฒนาเทคโนโลยี บุคลากร และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคร่วมกัน การลงนาม MOU ระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กับ องค์การอวกาศแห่งชาติของจีน (China National Space Administration: CNSA) จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาและดำเนินการความร่วมมือด้านการผลิตและการวิจัยเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศต่อไป
ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เสนอให้จัดทำความตกลงฉบับใหม่อีก 5 ปี โดยสร้างความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในเชิงลึกมากขึ้นครอบคลุมสาขาความร่วมมือเดิม และขยายกรอบความร่วมมือเพิ่มเติม ได้แก่ 1) ความร่วมมือในเรื่องการเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพ ขีดความสามารถของบุคลากรไทย และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยเฉพาะการวิจัยและทดลองบนสถานีอวกาศของจีน/ 2) ความร่วมมือในเรื่อง Quantum Computing ซึ่งขอให้จีนสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน Quantum Computing/ 3) ประเทศไทยกำลังสร้างความสามารถในการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ Biopharma โดยใช้ EECi เป็นฐานสำคัญในการวิจัยและพัฒนา เนื่องจากทางประเทศจีนมีความสามารถสูงในเรื่องดังกล่าว จึงเชิญให้มาพัฒนาร่วมกัน/ 4) Thailand 4.0 ต้องการเพิ่มประสิทธิผลในทุกด้าน การเกษตรแม่นยำและเกษตรสมัยใหม่ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนา จีนมีเทคโนโลยีทางการเกษตรที่หลากหลาย จึงอยากให้ประเทศจีนถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว และพัฒนางานร่วมกัน/ 5) Herbal medicine เป็นสิ่งที่จีนและไทยมีความสนใจร่วมกัน และเล็งเห็นว่าการจัดตั้ง Nanomedicine Innovation Hub ร่วมกันน่าจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกร่วมกัน