กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สั่งการให้จังหวัดและศูนย์ ปภ. เขตในพื้นที่เสี่ยงภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รับมือสถานการณ์อุทกภัย น้ำล้นตลิ่ง ดินโคลนถล่ม และผลกระทบจากการระบายน้ำในเขื่อน โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมด้านสรรพกำลังและเครื่องจักรกลสาธารณภัย รวมถึงจัดชุดเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนจัดชุดเคลื่อนที่เร็วประจำพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุและให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที พร้อมแจ้งเตือนประชาชนติดตามข่าวสาร พยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศ เตือนภัยอย่างเคร่งครัด
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า กอปภ.ก. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสภาวะอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่า ช่วงที่ผ่านมาหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้หลายพื้นที่เกิดอุทกภัย น้ำไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศไทยตอนบน และประเทศลาว เคลื่อนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อเนื่องไปอีก 2-3 วัน กอปภ.ก.จึงได้สั่งการให้จังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวังสถานการณ์ โดยเฉพาะดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลากอย่างใกล้ชิด รวมถึงปริมาณฝนตกสะสมในพื้นที่และการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำที่อาจส่งผลให้พื้นที่ที่ประสบอุทกภัยอยู่แล้วได้รับผลกระทบมากขึ้น โดยให้จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะที่พื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำ พื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่เดิม และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์มาก ซึ่งต้องทำการระบายน้ำเพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมฉับพลัน
ทั้งนี้ มีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยและน้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ แม่น้ำหลักและลำน้ำ รวม 11 แห่ง ประกอบด้วย แม่น้ำกก จังหวัดเชียงราย (อ.เชียงของ อ.เมืองเชียงราย) แม่น้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ (อ.ตรอน) จังหวัดพิษณุโลก (อ.วังทอง) แม่น้ำยม จังหวัดสุโขทัย (อ.เมืองสุโขทัย) แม่น้ำสงคราม จังหวัดบึงกาฬ (อ.เซกา) จังหวัดสกลนคร (อ.กาศอำนวย อ.สว่างแดนดิน) แม่น้ำห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี (อ.บ้านดุง) ลำเซบาย จังหวัดยโสธร (อ.ป่าติ้ว) จังหวัดนครพนม (อ.นาแก อ.วังยาง อ.ธาตุพนม) ลำน้ำยัง จังหวัดร้อยเอ็ด (อ.เสลภูมิ) แม่น้ำชี จังหวัดกาฬสินธุ์ (อ.ยางตลาด) จังหวัดยโสธร (อ.มหาชนะชัย) จังหวัดอุบลราชธานี (อ.เขื่องใน) แม่น้ำโขง บริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี คลองพระปรง จังหวัดสระแก้ว (อ.เมืองสระแก้ว) แม่น้ำนครนายก จังหวัดนครนายก (อ.องครักษ์) แม่น้ำแม่กลอง จังหวัดกาญจนบุรี (อ.ไทรโยค อ.ท่าม่วง อ.ท่ามะกา อ.ด่านมะขามเตี้ย อ.เมืองกาญจนบุรี) จังหวัดราชบุรี (อ.บ้านโป่ง อ.โพธาราม อ.เมืองราชบุรี) แม่น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี (อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมืองเพชรบุรี อ.บ้านแหลม) และแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อ.พุนพิน)
สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่มเป็นพิเศษได้แก่ 6 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน 5 อำเภอ (อ.แม่สะเรียง อ.แม่ลาน้อย อ.ปาย อ.สบเมย อ.เมืองแม่ฮ่องสอน) เชียงใหม่ 2 อำเภอ (อ.อมก๋อย อ.พร้าว อ.ฝาง) เชียงราย 14 อำเภอ (อ.แม่ฟ้าหลวง อ.เวียงป่าเป้า อ.ดอยหลวง อ.พญาเม็งราย อ.แม่สรวย อ.แม่สาย อ.แม่จัน อ.เมืองเชียงราย อ.เชียงของ อ.เทิง อ.เวียงแก่น อ.ป่าแดด อ.เชียงแสน อ.ขุนตาล) พะเยา 4 อำเภอ (อ.ภูซาง อ.ปง อ.เชียงคำ อ.จุน) แพร่ (อ.สอง) และน่าน (อ.บ่อเกลือ)
ในส่วนของพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากการระบายน้ำในเขื่อน 6 แห่ง แยกเป็น เขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี (อ.ไทรโยค อ.ท่าม่วง อ.ท่ามะกา อ.มะขามเตี้ย อ.เมืองกาญจนบุรี) จังหวัดราชบุรี (อ.บ้านโป่ง อ.โพธาราม อ.เมืองราชบุรี) เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี (อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมืองเพชรบุรี อ.บ้านแหลม) เขื่อนปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อ.ปราณบุรี) และเขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
อย่างไรก็ตาม กอปภ. ก. ได้เน้นย้ำให้จังหวัดและศูนย์ ปภ.เขต แจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามสถานการณ์น้ำ สภาพอากาศ สถานการณ์ภัย และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดต่อแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป