กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--สวทน.
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research Strategy) ณ ห้องหว้ากอ 1 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เปิดเวทีรับกระทรวงใหม่ ระดมกูรูภาครัฐ และภาคการศึกษา เสนอความเห็นเพื่อค้นหาเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าของไทย เร่งสร้างอัตลักษณ์ทางเทคโนโลยีให้กับประเทศ
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า หลากหลายประเทศมี เทคโนโลยีขั้นแนวหน้าเป็นของตนเองตามบริบทของประเทศที่แตกต่างกัน อาทิ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ วัคซีน เป็นต้น ประเทศไทยเองก็มีทรัพยากรที่มีศักยภาพ สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดโดยใช้เทคโนโลยีให้เกิดความโดดเด่นได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร การแพทย์ สุขภาพ และพลังงาน ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องค้นหาเป้าหมายเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าของตนเอง เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมถึงเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research Strategy) ในครั้งนี้ จึงเป็นเสมือนก้าวแรกที่จะไปสู่การกำหนดเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าของไทย ตลอดจนเป็นการเตรียมการสำหรับการเกิดขึ้นของกระทรวงใหม่ที่จะยกระดับระบบอุดมศึกษาและระบบวิจัยของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ประเทศฐานนวัตกรรม ภายใต้นโยบาย "ประเทศไทย 4.0" ของรัฐบาล อย่างเต็มรูปแบบ
"ภารกิจสำคัญของกระทรวงใหม่ที่จะตั้งขึ้น นอกเหนือจากเรื่องการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว การวิจัยและพัฒนาก็เป็นอีกภารกิจที่สำคัญ โดยแบ่งเป็นสองส่วนสำคัญ คือ การวิจัยเพื่อตอบโจทย์ในปัจจุบัน โดยเน้นการสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่วนอีกประเภทคือ การวิจัยที่ต้องตั้งโจทย์แบบมองไปข้างหน้า ในลักษณะการลงทุนเพื่ออนาคต หรือ Investment for the future ซึ่งเป็นการวิจัยแบบหวังผลระยะยาว รวมถึงการวิจัยขั้นแนวหน้า หรือ Frontier research ซึ่งที่ผ่านมาทางรัฐบาลยังไม่เคยมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research Strategy) ครั้งนี้ จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นการระดมสมอง และช่วยกันคิดว่าประเทศไทยมีความพร้อมและจะขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนในการวิจัยขั้นแนวหน้า หรือ frontier research ร่วมกันต่อไปอย่างไร" ดร.สุวิทย์ กล่าว
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มอบหมายให้ สวทน. เป็นผู้จัดทำร่างกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research Strategy) โดยการจัดประชุมหารือ และรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคการศึกษา โดยในการประชุมฯ ได้มีการระดมความเห็นต่อการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research Strategy) ทั้งในส่วนการกำหนดหัวข้อการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) ที่รัฐควรลงทุน ตลอดจนแพลตฟอร์มการทำงานและความร่วมมือภายในประเทศ และกับต่างประเทศ เพื่อผลักดันการดำเนินงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้การกำหนดและคัดเลือกหัวข้อวิจัยขั้นแนวหน้า หรือ Frontier Research ของประเทศไทย ต้องดำเนินการภายใต้การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ มีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ หรือสามารถแก้ปัญหาในอนาคตซึ่งเป็นความต้องการของประเทศได้ และต้องสามารถสร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้ในระยะยาว (National Security) และสามารถต่อยอดไปสู่ความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) รวมถึงต้องคำนึงว่าหัวข้อวิจัยขั้นแนวหน้าของไทยต้องมีผลกระทบสูงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม โดยหัวข้อที่กำหนดควรเป็นเรื่องที่ประเทศมีความเข้มแข็งทางวิชาการเป็นพื้นฐาน หรือมีความพร้อมทั้งด้านองค์กร กำลังคน เครือข่ายวิจัย และมีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน รวมถึงระหว่างทางการวิจัยควรมีการเกิดองค์ความรู้ในการพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาผู้ประกอบการใหม่ ด้วย อย่างไรก็ตาม ความเห็นที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ สวทน. จะรวบรวมและนำมาเป็นข้อมูลเพื่อจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research Strategy) ของประเทศต่อไป
"ที่ประชุมได้ให้ความเห็นเรื่องการลงทุนทำการวิจัยขั้นแนวหน้า หรือ Frontier research ว่าควรมีความเชื่อมโยงกับการวางจุดยืนของประเทศในเวทีโลก และควรใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Comparative Advantage) ของประเทศ โดยประเทศไทยมีความได้เปรียบอยู่สองด้านที่สำคัญ คือ 1. ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และ 2. ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Cultural Diversity) ทั้งนี้ ในส่วนของความหลากหลายทางชีวภาพ ได้มีการประมาณการณ์ว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพถึงประมาณ 14% ของโลก (ซึ่งประเทศในแถบที่อยู่ระหว่างเขตหนาวกับเขตร้อน หรือ Temperate Zone จะมีเพียง 0.5 - 1% เท่านั้น) ถือว่าเป็นขุมทรัพย์มหาศาลที่ประเทศไทยยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ที่ประชุมจึงเห็นว่าจุดเด่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพนี้ จะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำคัญสำหรับการลงทุนทำการวิจัยขั้นแนวหน้า หรือ Frontier research ของไทย" ดร.กิติพงค์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากกการประชุมครั้งนี้ สวทน. จะรวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเกณฑ์การกำหนดและคัดเลือกหัวข้อเทคโนโลยีขั้นแนวหน้า (Frontier Research) ของประเทศไทย ข้อเสนอหัวข้อ Frontier Research เพื่อผลักดันให้เป็นแผนงานระดับชาติ และแนวทางการดำเนินงาน การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการและการลงทุน รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและองค์กรวิจัยต่างประเทศ เพื่อจัดทำเอกสารเชิงหลักการ หรือ Concept Paper และแนวทางการดำเนินงานต่อไป